งานสัมมนา “การเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนไปสู่ระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร (Doing Business Portal Roadmap)
งานสัมมนา "การเตรียมความพร้อมเพื่อขับเคลื่อนไปสู่ระบบอำนวยความสะดวก
ในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร (Doing Business Portal Roadmap)"
วันอังคารที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๑ เวลา ๐๘.๓๐-๑๓.๐๐ น.
ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร
คลิก ลงทะเบียน
คลิก ดูรายชื่อผู้เข้าร่วมงานสัมมนา
๑. ที่มา
การลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย นอกจากเม็ดเงินลงทุนที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแล้ว การลงทุนยังก่อให้เกิดการจ้างงาน การถ่ายทอดความรู้ ทักษะความสามารถและเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งล้วนนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศและกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญในการยกระดับงานบริการภาครัฐด้านการลงทุนเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนอย่างครบวงจร
จากผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business: EoDB) ของธนาคารโลกพบว่า อันดับ EoDB ของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี ๒๕๕๒ – ๒๕๕๘ อันดับของประเทศไทยลดลงถึง ๑๔ อันดับ จากอันดับ ๑๒ สู่อันดับ ๒๖ และในปี ๒๕๕๘ ธนาคารโลกได้มีการปรับปรุงเกณฑ์การจัดอันดับโดยเพิ่มตัววัดเชิงคุณภาพงานบริการ ส่งผลให้ไทยอันดับของไทยในปีนั้นลดลงไปอยู่ที่อันดับ ๔๙ จาก ๑๘๙ ประเทศ และในปี ๒๕๕๙ ได้รับการจัดอันดับดีขึ้น ๓ อันดับ คือไปอยู่ที่อันดับ ๔๖ จาก ๑๙๐ ประเทศ ในขณะที่ประเทศมาเลเซียซึ่งเป็นคู่แข่งหลักของไทยในภูมิภาคได้พัฒนาอย่างแซงหน้าประเทศไทยอย่างก้าวกระโดด โดยมาเลเซียได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ ๒๓ จาก ๑๙๐ ประเทศ ประเทศไทยจึงควรเร่งพัฒนาเพื่อปรับปรุงผลการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจให้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติต่อการลงทุนในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาบทเรียนจากต่างประเทศพบว่าระบบเพื่ออำนวยความสะดวกทางด้านการค้าเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการอย่างแท้จริง ดังนั้นเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร (Doing Business Portal) หนึ่งในปัจจัยสู่ความสำเร็จหลักของประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงคือ การปฏิรูปงานบริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Transformation Program) ให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐอย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของการติดต่อราชการ ให้สามารถติดต่อหน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ไม่ต้องส่งเอกสารที่ซ้ำซ้อน สะดวกรวดเร็ว และโปร่งใส
โดยในปัจจุบัน แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐของไทยมีการพัฒนางานบริการภาครัฐทางอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในลักษณะให้บริการแบบหน่วยงานเดียว ขาดการบูรณาการและเชื่อมโยงบริการระหว่างกันอย่างแท้จริง ทำให้ประชาชน ภาคธุรกิจต่าง ๆ ยังไม่ได้รับความสะดวกในการติดต่อเพื่อขออนุญาตเริ่มต้นธุรกิจเท่าที่ควร ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยด้อยกว่าประเทศคู่แข่งหลักในภูมิภาคอย่างเห็นได้ชัด จึงจำเป็นต้องขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อพลิกโฉมรูปแบบงานบริการอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐไทยไปสู่รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานอย่างเต็มรูปแบบ
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) จึงจัดทำแนวทางการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร (Doing Business Portal) เสนอต่อคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (บยศ.) ในคราวประชุมครั้งที่ ๖/๒๕๖๐ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ โดย บยศ. มีมติอนุมัติหลักการแนวทางตามที่ สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ และมอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. จัดทำรายละเอียดการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว โดยพิจารณาดำเนินการในส่วนของกิจกรรมที่ต้องเร่งแก้ไขเร่งด่วนให้แล้วเสร็จภายใน ๓ เดือน และให้รายงานผลการดำเนินงานภายในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๖๐ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบระบบงานและทำหน้าที่เชื่อมโยงข้อมูลกับ Project Manager Officer (PMO) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ มีมติรับทราบสรุปสาระสำคัญการประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (บยศ.) ดังกล่าว ต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีคำสั่งที่ ๔๘/๒๕๖๐ เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานเตรียมการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร (Doing Business Portal) ณ วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๐ เพื่อเตรียมการพัฒนา ระบบ Doing Business Portal และดำเนินการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นประธานคณะทำงาน และ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นคณะทำงานและเลขานุการ คณะทำงานดังกล่าวได้ให้ความเห็นชอบแนวทางการในการเตรียมการพัฒนาระบบ และรายการใบอนุญาต/บริการสำคัญ ๓๐๐ บริการ ที่จะขับเคลื่อนการดำเนินโครงการที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลต่อไป
ที่ผ่านมาสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ได้ดำเนินการ โครงการศึกษาสถานภาพและจัดทำแผนแม่บทสำหรับระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร เพื่อกำหนดรายการบริการ/ใบอนุญาตสำคัญของรัฐที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ สำรวจสถานภาพปัจจุบันของใบอนุญาต/บริการสำคัญต่างๆ ดังกล่าวทั้งในด้านกระบวนการ กฎระเบียบ และเทคโนโลยี และจัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทสำหรับระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจรเสร็จสิ้นแล้ว งานสัมมนาในครั้งนี้ สพร. จะทำการชี้แจงผลการศึกษาดังกล่าว และรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกฯ ต่อไป
๒. วัตถุประสงค์
๒.๑ เพื่อนำเสนอผลการสำรวจสถานภาพปัจจุบันของใบอนุญาต/บริการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ และผลการออกแบบสถาปัตยกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร
๒.๒ เพื่อนำเสนอร่างแนวทาง และแผนการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร ระยะ ๒ ปี (Doing Business Portal Master Plan)
๓. กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วม (Target Audience) คือ ผู้ขับเคลื่อนเชิงนโยบายในการพัฒนางานบริการ และบุคคลากรที่เป็นผู้รับผิดชอบหลักในด้านขั้นตอน กฎระเบียบ และระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เกี่ยวข้อง กับใบอนุญาต/บริการสำคัญ ๓๐๐ ใบอนุญาต/บริการ จำนวน ๒๕๐ คน
๔. ผู้ประสานงาน
คุณชญาภา กุลวงศ์ หมายเลขโทรศัพท์ ๐๒ ๖๑๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๕๔๐๒