ระบบศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ (info.go.th)


19 August 2565
9433

ในปัจจุบันประชาชนและผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องติดต่อหน่วยงานภาครัฐเพื่อขอใบอนุญาต หนังสือรับรอง หรือขอรับบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน การขอรับความช่วยเหลือ หรือการประกอบกิจการ และเนื่องด้วยการขอใบอนุญาต ขอหนังสือรับรอง หรือขอรับบริการต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐดังกล่าว มีที่มาจากกฎหมายต่างฉบับ จากต่างหน่วยงาน และกฎหมายบางฉบับอาจไม่ได้กำหนดรายละเอียด แบบฟอร์ม เอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ต้องใช้ยื่นเพื่อประกอบการพิจารณา รวมถึงไม่ได้มีการกําหนดข้ันตอนในการพิจารณาของ เจ้าหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน จนทําให้เป็นการสร้างภาระและเป็นอุปสรรคต่อประชาชนติดต่อหน่วยงานภาครัฐเพื่อ ดําเนินการต่างๆ เกินสมควร ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจ และ ทําให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางการค้าและการแข่งขันกับประเทศต่างๆ

พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 มีเจตนารมณ์สำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้การติดต่อกับทางราชการ “เร็วขึ้น (faster) ง่ายขึ้น (easier) ถูกลง (cheaper)” และมุ่งให้การปฏิบัติราชการเป็นไปเพื่อความโปร่งใส การรับผิดชอบ ความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดประโยชน์สุขกับประชาชนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยได้กำหนดให้มีการจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนที่กําหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตให้ชัดเจน และจัดตั้งศูนย์บริการร่วมเพื่อรับคําร้อง และศูนย์รับคําขออนุญาต ณ จุดเดียว เพื่อบริการประชาชนและให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการขออนุญาต

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ได้ร่วมกันพัฒนา ระบบศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ (info.go.th) ขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐ และเป็นช่องทางให้หน่วยงานภาครัฐสามารถจัดทำและเผยแพร่คู่มือสำหรับประชาชนทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฯ โดยเริ่มให้บริการระบบดังกล่าวตั้งแต่ วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.​ 2558 และมีการปรับปรุงระบบดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เช่น การดำเนินการตามมติที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ตั้งที่ 1/2561 ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 362/2560 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2561 เรื่อง การปรับปรุงคู่มือประชาชนเพื่อยกเลิกการเรียกสำเนาเอกสารจากประชาชน อาทิ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมทั้งให้หน่วยงานภาครัฐที่มีจุดบริการประชาชนทั่วประเทศร่วมกันปักหมุด เพื่อจัดเก็บตำแหน่งที่อยู่ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล เป็นต้น

สื่อการเรียนรู้

ประโยชน์ที่หน่วยงานจะได้รับ

ประชาชน

ประชาชนจะได้รับความสะดวกในการติดต่อกับทางราชการได้ “เร็วขึ้น (faster) ง่ายขึ้น (easier) ถูกลง (cheaper)” กล่าวคือ ประชาชนสามารถรับทราบข้อมูลการให้บริการของภาครัฐที่ถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจนผ่านคู่มือสำหรับประชาชน สามารถทราบช่องทางในการให้บริการต่าง ๆ จัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้ให้ครบถ้วน (ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาติดต่อหลายรอบ) ขั้นตอนและระยะเวลาที่ต้องใช้ รวมถึงหากมีข้อสงสัยหรือปัญหาในการติดต่อ สามารถสอบถามหรือร้องเรียนได้ที่ใดบ้าง

หน่วยงานภาครัฐ

การบริการประชาชน มีรายละเอียด ขั้นตอนที่ชัดเจน การปฏิบัติราชการเป็นไปด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

หน่วยงานกลาง

คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สามารถตรวจสอบขั้นตอนและระยะเวลา ที่กำหนดไว้ในคู่มือสำหรับประชาชนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี กรณีที่เห็นว่าขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและสั่งการให้ผู้อนุญาตดำเนินการแก้ไขให้เหมาะสมโดยเร็ว

ลักษณะเชิงเทคนิค

ระบบศูนย์รวมข้อมูลเพื่อติดต่อราชการ (info.go.th) จัดทำขึ้นในลักษณะระบบฐานข้อมูลกลางที่หน่วยงานภาครัฐสามารถนำเข้า และปรับปรุงข้อมูลต่าง ๆ ในระบบได้ โดยมีความสามารถโดยสังเขป ดังนี้

ความสามารถของระบบเพื่อรองรับการใช้งานสำหรับประชาชน

  • สามารถเรียกดูข้อมูลต่าง ๆ เพื่อติดต่อราชการได้ โดยข้อมูลดังกล่าวครอบคลุมถึง
    • ข้อมูลหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งครอบคลุมถึง ชื่อหน่วยงาน สังกัด ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ คู่มือประชาน/บริการต่าง ๆ ที่ให้บริการ และจุดให้บริการต่าง ๆ ของหน่วยงาน
    • ข้อมูลจุดให้บริการประชาชน ซึ่งมีข้อมูลที่ครอบคลุมถึง ชื่อจุดให้บริการ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ คู่มือประชาน/บริการต่าง ๆ ที่ให้บริการ และพิกัดของจุดให้บริการ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อนำทางประชาชนไปสู่จุดให้บริการประชาชนได้
    • ข้อมูลคู่มือประชาชน ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และข้อมูลบริการประชาชน ซึ่งครอบคลุมข้อมูลต่าง ๆ เช่น แบบฟอร์ม เอกสาร/หลักฐานต่าง ๆ ที่ต้องใช้ ค่าธรรมเนียม ระยะเวลาที่ใช้ รวมถึงลิงค์เพื่อเข้าถึงช่องทางในการให้บริการออนไลน์ของหน่วยงาน (ถ้ามี)
    • ข้อมูลบทความแนะนำให้รู้จักบริการของภาครัฐ โดยเป็นบทความที่จัดทำขึ้นด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย และสามารถเชื่อมต่อไปยังคู่มือประชาชน/บริการต่างๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ทันที
  • สามารถสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ เพื่อติดต่อราชการได้
  • สามารถเข้าถึงข้อมูลคู่มือประชาชน และข้อมูลบริการประชาชนจากกลุ่มเป้าหมาย หรือหมวดหมู่ที่ตนสนใจได้
  • สามารถให้คะแนนความพึงพอใจในการติดต่อราชการได้
  • สามารถนำข้อมูลต่าง ๆ มาช่วยในการแนะนำบริการที่เหมาะสมกับความต้องการของประชาชนได้ เช่น ข้อมูลบริการที่ใช้บ่อย (Frequently Used Services) บริการที่เกี่ยวข้องกับบริการนี้ (Recommendations) เป็นต้น

ความสามารถของระบบเพื่อรองรับการใช้งานสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

  • สามารถปรับปรุงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐให้เป็นปัจจุบันได้
  • สามารถเพิ่ม ปรับปรุง หรือลบข้อมูลจุดให้บริการประชาชนได้
  • สามารถเพิ่ม ปรับปรุง หรือยกเลิกคู่มือประชาชน/บริการประชาชนของหน่วยงานตนได้
  • สามารถกำหนดป้ายคำ (Tag) สำหรับคู่มือประชาชน/บริการประชาชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงคู่มือฯ หรือบริการฯ ดังกล่าว ด้วยภาษาที่ใช้กันโดยทั่วไปได้ เช่น “บัตรประชาชน” “ใบขับขี่” แทนการใช้ข้อความที่เป็นทางการ เช่น “บัตรประจำตัวประชาชน” “ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์สาธารณะ” เป็นต้น
  • สามารถ “ปักหมุดจุดให้บริการประชาชน” กล่าวคือ เชื่อมโยงข้อมูลคู่มือประชาชน/บริการประชาชนไปยังแต่ละจุดให้บริการประชาชนได้
  • สามารถเรียกดูผลการประเมินความพึงพอใจ หรือข้อเสนอแนะต่างๆ ในการติดต่อราชการจากประชาชนของหน่วยงาน/จุดให้บริการประชาชนที่ตนรับผิดชอบได้
  • สามารถบันทึกข้อมูลปริมาณการทำธุรกรรม (Transaction Reports) ตามรูปแบบและแนวทางที่ สำนักงาน ก.พ.ร. กำหนดได้
  • สามารถบันทึกข้อมูลเรื่องล่าช้าตามที่ ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 กำหนดได้
  • สมารถกำหนดสิทธิให้เจ้าหน้าที่ในสังกัด ให้ดูแลข้อมูลเฉพาะส่วนที่ตนรับผิดชอบได้ เช่น กำหนดให้เจ้าหน้าที่ปรับปรุงข้อมูลจุดให้บริการประชาชนบางจุด หรือกำหนดให้เจ้าหน้าที่ปรับปรุงข้อมูลคู่มือประชาชน/จุดให้บริการประชาชน ได้

ความสามารถของระบบเพื่อรองรับการใช้งานสำหรับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานกลาง

  • สามารถดูข้อมูลสถิติ และตรวจสอบข้อมูลหน่วยงาน จุดให้บริการ คู่มือ/บริการประชาชนได้
  • สามารถดูข้อมูลสถิติ และตรวจสอบข้อมูลผลการประเมินความพึงพอใจจากประชาชน
  • สามารถดูข้อมูลสถิติ และตรวจสอบข้อมูลข้อมูลปริมาณการทำธุรกรรม จำแนกตามหน่วยงาน และบริการได้
  • สามารถดูข้อมูลสถิติ และตรวจสอบข้อมูลเรื่องล่าช้าตามที่ ตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 กำหนดได้
  • สามารถกำหนดสิทธิเจ้าหน้าที่ในระดับหน่วยงานได้

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

หน่วยงาน

พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 มาตรา 7

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)  

การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบ

ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลทางดิจิทัล ติดตั้งอยู่บนระบบคลาวด์ที่ให้บริการ และบริหารจัดการ โดย สพร. ระบบคลาวด์ภาครัฐดังกล่าวมีระดับเสถียรภาพ (SLA) ไม่น้อยกว่า 99.5% และเป็นระบบที่มีมาตรการป้องกันการโจรกรรมข้อมูลอย่างรัดกุม มีความปลอดภัยสูง ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 27001: 2013 ระบบการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (Information Security Management Systems – ISMS)

ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน และระบบงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการดำเนินงานต่างๆ ตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๖๐ และ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ๒๕๖๒

นอกจากนี้ ระบบฯ ได้รับการพัฒนาขึ้น โดยคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยต่างๆ ดังนี้

     1. การพัฒนาแอปพลิเคชัน ระบบและแพลตฟอร์มต่างๆ ของ สพร. ดำเนินการภายใต้มาตรฐาน ISO/IEC 9001
     2. ก่อนที่จะเปิดแอปพลิเคชัน ระบบและแพลตฟอร์ม เพื่อให้บริการจริง แอปพลิเคชันระบบ และแพลตฟอร์มดังกล่าวจะต้องผ่านการทดสอบ ทั้งในด้านคุณสมบัติ (Functional Test) และด้านอื่นๆ (Non-Functional Test) เช่น Performance Test และ Security Test โดยผลการทดสอบต้องแสดงให้เห็นว่าระบบทำงานได้โดยสมบูรณ์ มีระดับความมั่นคงสูง (Highly Available) มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยต่ำ

สพร. ทดสอบความปลอดภัยของแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์ม (Security Test) โดยใช้อย่างน้อย 2 วิธี ดังนี้

     1. วิธี Static Application Security Testing (SAST) ซึ่งเป็นการตรวจสอบ Source Code ของแอปพลิเคชัน และแพลตฟอร์มที่เขียนขึ้น ว่าเป็นการเขียนโปรแกรมที่มีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตี หรือถูกเจาะโดยผู้ไม่หวังดีมากน้อยเพียงใด

     2. วิธี Vulnerability Assessment (VA) ซึ่งเป็นการตรวจสอบแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มที่ติดตั้งแล้วในภาพรวม ว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกโจมตีเนื่องจากการตั้งค่า (Settings) ต่างๆ หรือโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ 

การติดต่อขอใช้บริการ

  • ประชาชนทั่วไปที่สนใจใช้บริการ สามารถเข้าใช้งานได้ทันทีที่เว็บไซต์ https://info.go.th
  • หน่วยงานภาครัฐที่สนใจใช้บริการ ติดต่อได้ที่ DGA Contact Center โทร 02-612-6060 หรือ อีเมล contact@dga.or.th

รายละเอียดเพิ่มเติม