ถาม – ตอบ FAQ


15 January 2564
1144

ตอบ : หลักการของกฎหมายฉบับนี้ถูกนำเสนอครั้งแรกในปี 2558 โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และมีการผลักดันต่อเนื่องผ่านสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในส่วนของการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจและการปฏิรูปประเทศด้านระบบบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อให้มีการตรากฎหมายนี้ขึ้น โดยในขณะนั้นใช้ชื่อเรียกว่า “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. ….” โดยมุ่งหวังให้เป็นกลไกทางกฎหมายในการช่วยให้เกิดการปฏิรูประบบข้อมูลภาครัฐที่มุ่งเข้าสู่การเป็นรัฐบาลที่เปิดและเชื่อมต่อกัน (Open and Connected Government) และสนับสนุนการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  มาตรา 258 (ข) (1) และ (2) ที่ได้กำหนดให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และให้มีการบูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นระบบข้อมูลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชน ซึ่งในเวลาต่อมารัฐบาลได้เห็นชอบและตราเป็นพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ขึ้น

ตอบ : กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดหลักการโดยมุ่งเน้นตั้งแต่การสร้างฐานรากให้กับระบบดิจิทัลภาครัฐที่มั่นคงแข็งแรงและสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล เพื่อให้ระบบการทำงานและข้อมูลของภาครัฐสามารถเชื่อมโยงระหว่างกันได้อย่างมั่นคงปลอดภัย มีประสิทธิภาพ เปิดเผยและโปร่งใส ภายใต้ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ เพื่อสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างบริการดิจิทัลภาครัฐแบบครบวงจรและเบ็ดเสร็จในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวก และลดภาระความยุ่งยากให้กับประชาชนในการติดต่อราชการ 

ดังนั้น หลักการสำคัญของกฎหมายจึงมีทั้งเรื่องนโยบาย แผน หลักเกณฑ์ มาตรฐาน มาตรการทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและกระบวนงานภาครัฐ เพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ ซึ่งบางเรื่องอาจมีกฎหมายดิจิทัลอื่นกำหนดหลักเกณฑ์กลางไว้แล้ว เช่น กฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นต้น

โดยกฎหมายฉบับนี้จะทำงานสอดคล้องและไม่ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น ทั้งการกำหนดแผนการพัฒนาที่จะคำนึงถึงความสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนชาติที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดมาตรฐาน มาตรการ หรือหลักเกณฑ์กลางด้านดิจิทัลหรือกระบวนงานภาครัฐ ก็จะนำมาตรฐาน มาตรการหรือหลักเกณฑ์กลางที่กฎหมายอื่นกำหนดไว้แล้ว รวมถึงมาตรฐานสากลอื่นใด มาปรับใช้เป็นฐานและเป็นแนวทางในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลตามกฎหมายนี้  

ตอบ : กฎหมายนี้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล รวมทั้งมาตรฐาน ข้อกำหนด หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดขึ้นตามกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานของรัฐเกิดการพัฒนาระบบการทำงานและระบบข้อมูลด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสอดคล้องเชื่อมโยงกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐ โดยมีคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานทำหน้าที่กำกับดูแล รวมถึงขับเคลื่อนภารกิจและแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลตามกฎหมายนี้หน่วยงานที่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ หน่วยงานของรัฐต่างๆ ทั้งราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และหน่วยงานอิสระของรัฐ แต่สำหรับกรณีของศาล กฎหมายนี้มุ่งหมายให้ครอบคลุมเพียงในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาอรรถคดี ส่วนหน่วยงานของรัฐสภาก็มุ่งหมายเฉพาะหน่วยงานธุรการของรัฐสภาเท่านั้นอย่างไรก็ดี หน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการเรื่องใดตามลำดับก่อนหลังนั้น จะใช้กลไกตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเป็นมาตรการบังคับ

ตอบ : เนื่องด้วยกฎหมายฉบับนี้มีเจตนารมณ์ต้องการให้หน่วยงานของรัฐเกิดการบูรณาการฐานข้อมูลของภาครัฐทุกหน่วยงานเข้าด้วยกันให้เป็นระบบข้อมูล เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

อย่างไรก็ดี เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้การสร้าง รับส่ง จัดเก็บและนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์สามารถทำได้อย่างสะดวกรวดเร็วและกว้างขวาง แต่นั่นหมายถึงหากไม่มีการวางนโยบายและแนวทางปฏิบัติในการดูแลข้อมูลที่เหมาะสมก็อาจเกิดปัญหาการรั่วไหลหรือละเมิดข้อมูลที่จัดเก็บในหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นการบั่นทอนความน่าเชื่อถือในระบบการทำงานภาครัฐ และอาจเกิดความเสียหายต่อประเทศได้ ดังนั้น ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ คือ การกำหนดกฎเกณฑ์หรือระเบียบแบบแผนของหน่วยงานของรัฐในเรื่องการบริหารจัดการบรรดาข้อมูลที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐตลอดช่วงชีวิตของข้อมูล เพื่อให้ข้อมูลมีคุณภาพ สามารถนำมาใช้ประโยชน์รวมถึงเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานได้ มีการกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในหน่วยงานที่สามารถเข้าถึงหรือใช้ประโยชน์ในข้อมูล และต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อคุ้มครองสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนตลอดจนความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่สำคัญของรัฐ

ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลจะจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐที่เป็นกรอบใหญ่ หลังจากนั้นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่จัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐในระดับหน่วยงาน และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามข้อปฏิบัติในธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐที่กำหนดขึ้น

ตอบ : เมื่อกฎหมายประกาศใช้แล้วจะต้องมีการดำเนินการในเบื้องต้น ดังนี้ 

1.จัดประชุม “คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล” ครั้งแรก เพื่อกำหนดแผนและแนวทางการทำงานของคณะกรรมการ รวมถึงการจัดตั้งคณะอนุกรรมการในด้านต่างๆ

2.คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลจะมีการจัดทำ
     2.1 แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
     2.2 ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ
     2.3 กำหนดมาตรฐาน ข้อกำหนด และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบดิจิทัลตามกฎหมายนี้ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลใช้บังคับ

3.หน่วยงานของรัฐดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ และมาตรฐาน ข้อกำหนด และหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบดิจิทัล (รวมถึงหน่วยงานที่ถูกกำหนดเป็นหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ต้องมีการจัดทำแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล) 

4.สพร. ดำเนินการให้มีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางเพื่ออำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐ และให้มีศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อให้หน่วยงานจัดส่งหรือเชื่อมโยงข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล

ตอบ : หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายนี้ โดยในช่วงเริ่มต้นหลังจากกฎหมายประกาศใช้แล้ว การดำเนินการในบางเรื่องตามกฎหมาย เช่น การจัดทำแผนปฏิบัติการ การจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ การดำเนินการตามที่คณะกรรมการกำหนด เป็นต้น จำเป็นต้องรอให้คณะกรรมการจัดทำและประกาศใช้แผนฯ รวมทั้งมาตรฐาน มาตรการและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องก่อน เช่น มาตรฐานการจัดทำข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล มาตรฐานการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อกำหนดการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลภาครัฐ เป็นต้น จึงจะสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบ 

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของรัฐก็สามารถเตรียมการหรือริเริ่มการดำเนินการตามกฎหมายฉบับนี้ได้ก่อน เช่น การนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้กับการบริหารงานและการให้บริการประชาชน ลดการใช้กระดาษหรือสำเนาเอกสาร การจัดให้มีระบบการชำระเงินทางดิจิทัลอีกช่องทางหนึ่ง รวมทั้งสร้างความตระหนักแก่บุคลากรในการปฏิบัติตามกฎหมายนี้ เป็นต้น 

อนึ่ง หากหน่วยงานของรัฐมีบางเรื่องที่ได้ดำเนินการไปก่อนกฎหมายนี้แล้ว ก็ให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ และเมื่อคณะกรรมการพัฒนารัฐดิจิทัลได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายนี้แล้ว ก็ให้หน่วยงานของรัฐมาพิจารณาทบทวนความสอดคล้องของการดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง

ตอบ : ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลและทะเบียนดิจิทัลระหว่างหน่วยงานของรัฐ เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐในการให้บริการประชาชนผ่านระบบดิจิทัล โดยจะไม่กระทบต่อความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐที่ได้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะระบบการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลเฉพาะด้านเพื่อการบริหารงานราชการ เช่น การเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลทรัพยากรน้ำ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางจะมีการพัฒนารูปแบบการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลระหว่างหน่วยงานรัฐที่ลดกระบวนการและขั้นตอนเดิมๆ โดยเฉพาะการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และมีกลไกที่ทำให้การเปิดเผยและเข้าถึงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของรัฐมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยลดความกังวลด้านความรับผิดทางกฎหมายของหน่วยงานที่เป็นเจ้าของข้อมูล 

ตอบ : หากพบข้อติดขัดด้านกฎหมายภายในที่อาจทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายนี้ได้ หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการศึกษาและปรับปรุงกฎหมายของตนเองให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับนี้ได้ หรืออาจรวบรวมประเด็นข้อสงสัยหรือปัญหาและข้อกฎหมายที่ติดขัด ส่งเรื่องให้ สพร. นำเสนอคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลพิจารณา และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของหน่วยงานต่อไป