ความเป็นมา (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของ ประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564


15 January 2564
1006

ตามที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๗ มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวผลักดันการสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งภาครัฐถือเป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ทั้งในบทบาทของผู้กำหนดนโยบาย ทิศทางการพัฒนาของประเทศ และในฐานะของผู้ปฏิบัติหรือผู้นำนโยบายไปทำให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เพื่อเป็นการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ในภาครัฐให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีแผนการขับเคลื่อนนโยบายเชิงบูรณาการระดับประเทศเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทั้งระบบมีการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สู่รัฐบาลดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม

สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.)  (ชื่อเดิมของ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร.) จึงได้ริเริ่มดำเนินโครงการ จัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๑) (Digital Government Development Plan) เพื่อดำเนินการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยที่สอดคล้องกับนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศได้อย่างมีเอกภาพ สร้างประสิทธิภาพและความโปร่งใส ในกระบวนการทำงานภาครัฐ และช่วยยกระดับคุณภาพบริการที่ส่งมอบให้แก่ประชาชน ซึ่งการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ๓ ปี (พ.ศ.๒๕๕๙ – ๒๕๖๑) โดยมีแบ่งการจัดทำออกเป็น ๒ ระยะ ระยะที่ ๑ ศึกษาถึงบริการรัฐบาลดิจิทัลที่ครอบคลุม ๑๘ ด้าน ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และระยะที่ ๒ ครอบคลุม ๘ ด้าน รวมทั้งหมด ๒๖ ด้าน (รายละเอียดตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๑))

สพร. ตระหนักว่าการขับเคลื่อนให้เกิดรัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบจำเป็นต้องดำเนินโครงการ ฯ ในระยะที่ ๒ เพื่อให้ได้แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่มีความสมบูรณ์ครบถ้วนในทุกมิติ ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส เอื้อต่อการเสริมสร้างรากฐานที่เข้มแข็งของประเทศ ซึ่งจะทำให้ภาครัฐไทยได้รับการผลักดันให้เป็นรัฐบาลดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

วัตถุประสงค์

  • เพื่อจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลระยะ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๙ – ๒๕๖๑) ให้สมบูรณ์ครบถ้วน
  • เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะให้กับหน่วยงานภาครัฐในการผลักดันการยกระดับขีดความสามารถเชิงดิจิทัลจากลำดับความสำคัญเร่งด่วนที่หน่วยงานภาครัฐควรมุ่งพัฒนา 
  • เพื่อเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยในการพัฒนาให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่อการบริหารจัดการภายในและการบริการประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นพร้อมสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในภาครัฐด้วยกันเอง ภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาครัฐและประชาชน เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่สมบูรณ์
  • เพื่อเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ให้สอดคล้องกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน