ทั้งนี้ภาพรวมของแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลระยะ 3 ปี ฉบับที่จัดทำอยู่นี้จะมุ่งไปที่ การดำเนินการในกรอบแนวทางการขับเคลื่อนการบูรณาการรัฐบาลดิจิทัล ประเด็นที่สำคัญทั้ง “6 ด้าน 6 ความท้าทาย” ตลอดจนกลไกการดำเนินงานตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ดังนี้
6 ด้าน คือ ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านการเกษตร ความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน การมีส่วนร่วม โปร่งใสและตรวจสอบได้ของประชาชน และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)
และ 6 ความท้าทาย คือ การมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงภาครัฐในรูปแบบใหม่ในยุคหลัง COVID-19 ทั้งในด้านแนวคิดใหม่ (New Way of Thinking) การสื่อสารรูปแบบใหม่ (New Way of Communicating) การทำงานรูปแบบใหม่ (New Way of Working/Doing) การดำรงชีวิตแบบใหม่ (New Way of Living) ความคาดหวังใหม่ (New Expectation) และสุดท้ายคือ วิธีการใหม่ที่โดนใจ (New way of Winning)
โดยภาครัฐจำเป็นต้องคิด ทบทวน และปรับ กลยุทธ์การบริหารจัดการและรูปแบบการบริการภาครัฐใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการ และความคาดหวังของประชาชนที่แตกต่างไปจากเดิมได้ดียิ่งขึ้น นำไปสู่เป้าหมายเชิงคุณภาพ 4 ประการ คือ 1) ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการและสวัสดิการ 2) เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน 3) โปร่งใสตรวจสอบได้ และ 4) สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน