โครงการอบรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ และการอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การประยุกต์ใช้งานกรอบการกำกับดูแลข้อมูลภายในหน่วยงานภาครัฐ (Data Governance Framework)” สำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
โครงการอบรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ และการอบรมเชิงปฏิบัติการ
ในหัวข้อ “การประยุกต์ใช้งานกรอบการกำกับดูแลข้อมูลภายในหน่วยงานภาครัฐ
(Data Governance Framework)” สำหรับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
หลักการและเหตุผล
ตามที่ คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบต่อแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560 – 2565) และแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2559 – 2561) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คือ ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล และยุทธศาสตร์ที่ 5 พัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล นั้น ประกอบกับการปรับเปลี่ยนสู่รัฐบาลดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐนั้น มีความจำเป็นต้องยกระดับการให้บริการให้มีประสิทธิภาพในหลายมิติไปพร้อมๆ กัน โดยหนึ่งในมิติที่รัฐบาลกำลังให้ความสำคัญและมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาคือ มิติด้านข้อมูล ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 ได้สั่งการให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) (ชื่อเดิม สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.)) ขับเคลื่อนการดำเนินงานในเรื่องการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อให้บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐสามารถวิเคราะห์ออกแบบและตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลจริง ลดการพึ่งความรู้สึกหรือข้อมูลปรุงแต่ง ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการปฏิบัติงานและสร้างความเชื่อมโยงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐกันเอง (Connected and Open Government) แต่ปัญหาด้านข้อมูลที่พบในปัจจุบันส่วนใหญ่ หน่วยงานรัฐยังปฏิบัติงานด้วยกระบวนการเดิมๆ ที่ซ้ำซ้อน การใช้กระดาษเป็นจำนวนมากในการบันทึกและจัดเก็บข้อมูล ส่งผลให้ข้อมูลอาจเกิดความผิดพลาดหรือสูญหาย การสืบค้นก็ทำได้ยากและต้องมีพื้นที่ในการจัดเก็บเอกสารมากขึ้นตามการใช้งาน รวมทั้งยังขาดมาตรการป้องกันความมั่นคงปลอดภัยด้านข้อมูล การจัดลำดับชั้นความลับของข้อมูลและสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูล ซึ่งอาจจะทำให้เกิดข้อมูลที่สำคัญของหน่วยงานรั่วไหลได้ และอันจะทำให้เกิดความไม่เชื่อมั่นต่อการผลักดันการทำธุรกรรมทางดิจิทัลของภาครัฐ แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ การนำหลักการของ Big Data/Open Government/Data Governance มาช่วยในการวิเคราะห์และออกแบบการบริหารจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงาน มาช่วยจัดเก็บเอกสารให้อยู่ในรูปดิจิทัลมากยิ่งขึ้น สร้างมาตรฐานของข้อมูล ก่อให้เกิดความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล ส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สามารถสืบค้นข้อมูลได้รวดเร็ว เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์วางแผนการปฏิบัติงานในวันถัดไปหรือการสั่งการได้ถูกต้อง แม่นยำ และขับเคลื่อนให้หน่วยงานให้สามารถดำเนินการตามนโยบายและเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นสังคมดิจิทัลหรือสังคมไร้กระดาษอย่างแท้จริง
ประกอบกับในปัจจุบันรัฐบาลได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการเสริมสร้างความมั่นคงปลอดเทคโนโลยีสารสนเทศ การสร้างมาตรฐานและการสร้างความเชื่อมโยงในด้านต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 เรื่อง นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2560-2561) ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐบูรณาการการจัดการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ระหว่างหน่วยงาน และพัฒนาขีดความสามารถองค์กรทุกภาคส่วน/บุคลากรที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความชำนาญด้านไซเบอร์อย่างต่อเนื่องต่อไป
เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามข้อสั่งการดังกล่าว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลภาครัฐ (Thailand Digital Government Academy: TDGA) ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ซึ่งมีภารกิจในการดำเนินการฝึกอบรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมและการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับบุคลากรหน่วยงานภาครัฐและส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐปรับเปลี่ยนสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล จึงได้มีการจัดโครงการอบรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในหัวข้อ “การประยุกต์ใช้งานกรอบการกำกับดูแลข้อมูลภายในหน่วยงานภาครัฐ (Data Governance Framework Awareness)” โดยหลักสูตรนี้ออกแบบเพื่อให้บุคลากรภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญของแนวทางการกำกับดูแลข้อมูล โดยมุ่งเน้นไปยังแต่ละหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการแนวทางการกำกับดูแลข้อมูล และการประยุกต์ใช้ตามแนวทางกรอบการกำกับดูแลข้อมูล เพื่อยกระดับทักษะความรู้ความสามารถด้านการกำกับดูแลข้อมูล ซึ่งสามารถนำความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมอบรมไปใช้ในการจัดทำกรอบการกำกับดูแลข้อมูลภายในหน่วยงาน สามารถจัดกลุ่มของข้อมูลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตลอดจนการจัดทำนโยบาย มาตรการ และแนวทางเพื่อใช้ในการกำกับดูแลข้อมูลของหน่วยงาน เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของข้อมูล ส่งผลให้เกิดการบริหารจัดการ และการให้บริการของภาครัฐที่มีการเชื่อมโยงบูรณาการข้อมูล ทั้งการให้บริการระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง และระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชน อีกทั้งสนับสนุนการเปิดเผยข้อมูล การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการบูรณาการข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อไป