สปสช.จับมือ EGA ขยายโครงข่ายไอที เปลี่ยนระบบสุขภาพคนไทย


9 February 2560
2015

สปสช.จับมือ EGA ขยายโครงข่ายไอที เปลี่ยนระบบสุขภาพคนไทย เชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วย ส่งต่อประวัติการรักษา ช่วยแพทย์และคนไข้ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการรักษา พร้อมนำร่อง 4 เครือข่ายโรงพยาบาลใหญ่ ครอบคลุมสถานพยาบาลกว่า 60 แห่ง 

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ในการพัฒนาระบบรับส่งผู้ป่วย หรือ e-Referral Business Process และระบบข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic Health Record: EHR เชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยกับระบบข้อมูลของโรงพยาบาลและสถานบริการ รวมถึงกระบวนการเบิกจ่ายรองรับ ระบบการรับ-ส่งต่อผู้ป่วย และพัฒนาโครงสร้างมาตรฐานกลางข้อมูลดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน เพื่อให้ระบบฐานข้อมูลสุขภาพของประชาชนผู้มีสิทธิ์ในหลักประกันสุขภาพสามารถเชื่อมโยงกันระหว่างหน่วยบริการ ลดเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปขอประวัติหรือรายละเอียดต่างๆ จากหน่วยบริการ เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ได้เริ่มโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2556 เริ่มจากการศึกษาออกแบบมาตรฐานกระบวน การรับ-ส่งผู้ป่วยขึ้นมาใหม่ และได้ศึกษาออกแบบมาตรฐานกลาง ข้อมูลสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการพัฒนาโมดูลโปรแกรมเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยกับระบบข้อมูลของโรงพยาบาลและสถานบริการ โดยได้นำร่องใช้งานในเครือข่ายโรงพยาบาล 2 เครือข่าย ใช้งบประมาณ 13.6 ล้านบาท และได้ดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปี 2557-2559 โดยได้พัฒนาโมดูลโปรแกรมเชื่อมโยงข้อมูล ผู้ป่วยกับระบบข้อมูลของโรงพยาบาล และสถานบริการ AE/ER ขึ้นมาเพิ่มเติม และได้ติดตั้งระบบรับ-ส่งต่อผู้ป่วย (e-Refer) และนำร่องใช้งานจำนวน 4 เครือข่าย ประกอบด้วย 1. เครือข่ายโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช 2. เครือข่ายโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ 3. เครือข่ายโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี 4. เครือข่ายคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลฯ ครอบคลุมคลินิกชุมชนอบอุ่น 37 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 27 แห่ง ในวงเงินงบประมาณ 15.5 ล้านบาท
โดยในปี 2560 นี้ ได้พัฒนาระบบการเบิกจ่ายรองรับ ระบบการรับ-ส่งต่อผู้ป่วย  และออกแบบโครงสร้างมาตรฐานกลางข้อมูลดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน รวมถึงการออกแบบโมดูลข้อมูลดแูลสุขภาพผู้ป่วย ที่บ้าน มีการพัฒนาระบบการบริหารจัดการผู้ใช้งานระบบ VPN ผ่าน WebUI ต่อจากนั้นในปีหน้า 2561 จะมีการพัฒนาระบบมาตรฐานกลางการรับส่งข้อมูล ผู้ป่วยใน, พัฒนาระบบรับส่งข้อมูลผู้ป่วยใน และบำรุงรักษาระบบ e-referral ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปีถัดไปคือ 2562 จะมีการทำระบบการเบิกจ่ายรองรับระบบ การรับ-ส่งต่อผู้ป่วย, พัฒนาระบบเบิกจ่ายรองรับระบบการ รับ-ส่งต่อผู้ป่วย
จากแผนงานในปี 2560 นี้สปสช.จำเป็นต้องมีระบบสารสนเทศขนาดใหญ่และมีความปลอดภัยต่อข้อมูลระดับสูงมารองรับ สปสช.จึงได้ทำความร่วมมือกับ EGA ในการนำระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network: GIN) และระบบบริการคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud) มาใช้งานในการพัฒนาระบบทั้งหมด
“สถานการณ์ที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ยังแออัด ประชาชนต้องรอคิวนาน สปสช.ต้องเร่งกระจายความรับผิดชอบของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ไปที่คลินิกชุมชนที่อบอุ่น และศูนย์บริการสาธารณสุขที่อยู่โดยรอบ ผู้ป่วยธรรมดาและผู้ป่วยเรื้อรังหรือในการรายการที่ต้องมีการส่งต่อหรือส่งกลับเพื่อดูแลต่อเนื่องจำเป็นต้องมีระบบสารสนเทศที่ดีมารองรับ ซึ่งขณะนี้ระบบได้ดำเนินการเริ่มต้นไปแล้วและอยู่ระหว่างการขยาย โดยใช้ระบบโครงข่ายภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งโครงการนี้จะสามารถตอบโจทย์ทั้งหมด” นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา กล่าว

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า ความร่วมมือระหว่าง EGA กับ สปสช. จะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างมาก โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านเครือข่ายที่รวดเร็ว และมีความปลอดภัยจะทำให้ระบบการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนในแต่ละคนจะมีขนาดใหญ่และหลากหลายรูปแบบ ลดความซ้ำซ้อนในการรักษา ลดระยะเวลาในการรอคอย ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และเชื่อมโยงประวัติคนไข้เข้าด้วยกัน
ดังนั้นในโครงการนี้ EGA ได้ขยายเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network: GIN) ต่อเชื่อมกับอุปกรณ์เครือข่ายคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ เชื่อมต่อปลายทางด้านผู้รับบริการ (Customer-premises equipment (CPE)) ของสปสช. ขณะเดียวกันก็ได้เตรียมระบบบริการคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud) ทั้งในด้านความเร็ว และปริมาณความจุ จำนวนเครื่องแม่ข่ายเสมือน ระบบปฏิบัติการ RAM CPU Hard Disk เพื่อรองรับข้อมูลที่จะต้องผ่านเครือข่ายตลอดเวลา
ขณะนี้ EGA ได้เข้ามาบริหารโครงข่ายด้านการสื่อสารของระบบสาธารณสุขในประเทศอย่างเป็นระบบมากขึ้น หลังจากที่เชื่อมโยงระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) มีศูนย์สาธารณสุขและโรงพยาลเข้าร่วมกว่า 120 แห่ง ขณะที่โครงการส่งข้อมูลผู้ป่วยด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ครั้งนี้จะมีศูนย์สาธารณสุขและโรงพยาบาลอีกกว่า 60 แห่ง