EGA จัดประชุมภาครัฐรับฟังความคิดเห็น ร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยระยะ 3 ปี


14 January 2559
1490

สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA จัดงานประชุมรับฟังความคิดเห็น ร่าง “แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2559 – 2561)” เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลให้ตอบสนองต่อความต้องการของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ รวมถึงให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกับระดับสากล โดยมี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษเรื่องทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2559 ณ ห้องวายุภักษ์ 3 โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ  ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมงานกว่า 300 คน

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่  https://www.facebook.com/media/set/?set=a.954950841241224.1073741961.542226425847003&type=3

——————————————————————————————————————-

ข่าวประชาสัมพันธ์

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า ทุกท่านคงจะทราบกันแล้วว่าแนวโน้มหลักของโลกในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นการเป็นโลกดิจิทัล ทั้งในด้านการเชื่อมต่ออุปกรณ์เคลื่อนที่ (Internet of Things & Mobility) โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า 2 เท่า จาก 1,100 ล้านเครื่องในปี พ.ศ. 2555 เป็น 2,600 ล้านเครื่องในปัจจุบัน โดยคาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2563 ประชากรโลกแต่ละคนจะการมีถือครองอุปกรณ์ที่มีความสามารถในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นมากถึง 6.5 ชิ้น ส่งผลให้เกิดข้อมูลขึ้นเป็นจำนวนมาก และเกิดความต้องการด้านบริหารข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Big Data & Analytics) ตามมา รวมถึงกระตุ้นให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการทางดิจิทัลกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจและสังคมในยุคนี้ ซึ่งทำให้เทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามามีบทบาทในทุกมิติของการทำงานภาครัฐมากขึ้น ทั้งในแง่ของการให้บริการประชาชน การบริการจัดการภาครัฐ และการกำหนดนโยบาย ปัจจุบันภาครัฐทั่วโลกต่างนำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อให้สามารถปรับตัวตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง โดยกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของการเชื่อมต่ออุปกรณ์เคลื่อนที่ ได้แก่ โครงการ Safe City ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นระบบรักษาความปลอดภัยสาธารณะเชิงรุกที่บูรณาการข้อมูลจากกล้องวงจรปิดทั้งหมดไปยังศูนย์บัญชาการ และนำเครื่องมือวิเคราะห์เชิงลึกมาประเมินสถานการณ์เสี่ยง เพื่อแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ในเชิงรุก เช่น การตรวจจับวัตถุแปลกปลอมที่ถูกทิ้งไว้ในที่สาธารณะ หรือส่งสัญญาณเมื่อมีผู้บุกรุกเข้าไปในบริเวณต้องห้าม 
    

ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของกระแสดิจิทัลเป็นอย่างดี ในเดือนกันยายน ปี 2558 รัฐบาลภายใต้การบริหารของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ที่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการทำเทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยคณะกรรมการเตรียมการด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลได้กำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศ ที่จะปรับเปลี่ยนประเทศสู่รูปแบบใหม่เพื่อการพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน  ( Innovate and Transform Thailand Towards sustainable Digital Economy) โดยให้ความสำคัญใน 4 ด้านหลักได้คือ 

    1.การปรับเปลี่ยนภาครัฐให้เป็นรัฐที่มีการดำเนินงานบริการพื้นฐานเชิงดิจิทัล (Digital By Default Government) 
    2.เร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการใช้นวัตกรรม ส่งเสริมในประเทศเป็นศูนย์กลางทางอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Hub) และส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 
    3. สร้างสังคมที่มีความเท่าเทียม (Social Equality) โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับคุณภาพชีวิตและผลักดันให้ทุกคนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างแท้จริง (Digital Inclusion) 
    4. ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ให้เหมาะสมเท่าทัน สอดรับกับสังคมในรูปแบบใหม่ ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรที่เป็นกำลังสำคัญของตลาดแรงงาน (Digital workforce) และประชาชนทั่วไปในภาคประชาสังคม (Digital Citizen) ทั้งนี้จะดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ 6 ด้านได้แก่ 
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารดิจิทัล เพื่อให้เกิดความพร้อม สามารถรองรับการบริหารอันเกิดจากการหลอมรวมของเทคโนโลยีต่างๆที่จะเกิดขึ้น รวมถึงบริการโครงข่ายความเร็วสูงที่มีความทั่วถึงและเท่าเทียมในราคาที่เหมาะสม
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศที่มีความมั่งคง ปลอดภัย มีมาตรฐาน ทั้งในรูปแบบของกฎหมาย กฎระเบียบ กติกาที่มีความเป็นสากลเชื่อมโยงและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ รวมถึงการจัดให้มีกลไกการกำกับดูที่ประสิทธิภาพเหมาะสม เป็นธรรม เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมการสร้างบริการดิจิทัล ซึ่งเป็นการเร่งพัฒนารากฐาน และปฏิวัติรูปแบบบริการใหม่ให้แก่การทำงานและให้บริการในภาครัฐ มุ่งเน้นการลดเอกสารกระดาษในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน เพิ่มความสะดวก รวดเร็วและถูกต้องก่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ส่งเสริมให้เกิดความสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมในการด้านการบริการของภาครัฐให้มากยิ่งขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการกำหนดและร่วมสร้างบริการ และการเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐ เพื่อนำไปต่อยอดเพิ่มมูลค่าสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไป  
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการวางรากฐานการแข่งขันเชิงธุรกิจในรูปแบบใหม่ ยกระดับการทำธุรกิจในรูปแบบเดิมให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าอย่างยั่งยืน ในระยะยาว
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาสังคมดิจิทัล ซึ่งเป็นการดูแลให้สังคมได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเท่าทันและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการเข้าถึงบริการภาครัฐที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนากำลังในทักษะด้านดิจิทัล เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้แก่ประชาชนในการใช้ชีวิตในวิถีแห่งดิจิทัลทั้งในมิติของการทำงานและการใช้ชีวิต
ดังจะเห็นได้ว่า ภาครัฐเป็นส่วนที่มีบทบทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ดังจะเห็นได้ถึงการย้ำเน้นอย่างชัดเจนทั้งในแนวทางและยุทธศาสตร์และการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ได้แก่ การกำหนดให้เป็น Digital by Default และการกำหนดในยุทธศาสตร์ที่ 3 ที่เน้นการยกระดับปรับเปลี่ยนให้เกิดการบริการในภาครัฐให้เข้าสู่รูปแบบดิจิทัลทั้งหมด การขับเคลื่อนภาครัฐอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นระบบ จึงจำเป็นที่ต้องมีแผนการพัฒนาและยกระดับในภาพรวมของประเทศ  จึงเป็นที่มาและความสำคัญของการพัฒนาแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยในระยะ 3 ปี นี้ขึ้น
  

ทั้งนี้เพื่อให้การผลักดันเห็นผลได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานต้องมีวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องร่วมกัน หรือ Common Vision เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ซ้ำซ้อน ไม่ใช่การพัฒนาในลักษณะ “ต่างคนต่างทำ” ซึ่งทำให้งานและระบบต่างๆ ขาดมาตรฐานและไม่สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้เหมือนที่เป็นมาในอดีต
    

ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐเอง ภาคเอกชน และรวมไปถึง
ภาคประชาสังคมประชาชน ให้สามารถขับเคลื่อนแผนการพัฒนาไปให้ถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ วันนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดี ในการรับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นจากหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ทุกภาคที่เป็นส่วนสำคัญในการจัดทำแผนระดับชาตินี้ขึ้น 
    

โดยผมมีความมั่นใจว่าถ้าหากพวกเราทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันอย่างแท้จริง ประเทศชาติจะได้รับผลประโยชน์อย่างยิ่งทั้งด้านคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน ขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นของเศรษฐกิจ ไปจนถึง การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ จึงขอขอบคุณทุกท่านอีกครั้งที่สละเวลาอันมีค่าของท่านมาร่วมงานที่จะช่วยสร้างอนาคตให้กับประเทศไทยในวันนี้ “ดร.อุตตม” กล่าว
    
    

ดร.ศักดิ์  เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีความมุ่งมั่นที่จะตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับการบริหารจัดการและบริการของภาครัฐสู่ประชาชนอยู่เสมอ ผ่านการพัฒนาและบูรณาการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของภาครัฐให้มีความเท่าเทียมกับระดับมาตรฐานสากล 
    

และปัจจุบันภาครัฐผลักดันนโยบายเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy) ที่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการทำเทคโนโลยีดิจิทัลมาขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยคณะกรรมการเตรียมการด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลได้กำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศ ที่จะปรับเปลี่ยนประเทศสู่รูปแบบใหม่เพื่อการพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในห้าเสาหลักของ Digital Economy คือการดำเนินงานด้านการบริการโครงสร้างพื้นฐาน (Service Infrastructure)  เพื่อส่งเสริมการสร้างบริการดิจิทัล ซึ่งเป็นการเร่งพัฒนารากฐาน และปฏิวัติรูปแบบบริการใหม่ให้แก่การทำงานและให้บริการในภาครัฐ มุ่งเน้นการลดเอกสารกระดาษในทุกขั้นตอนการดำเนินงาน เพิ่มความสะดวก รวดเร็วและถูกต้องก่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ส่งเสริมให้เกิดความสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมในการด้านการบริการของภาครัฐให้มากยิ่งขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการกำหนดและร่วมสร้างบริการ และเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐ เพื่อนำไปต่อยอดเพิ่มมูลค่าสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไป  

ฉะนั้นเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนภาครัฐเชิงดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม จึงจำเป็นที่ต้องมีแผนการพัฒนาและการยกระดับในภาพรวมของประเทศ  ด้วยเหตุนี้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลขึ้น เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลให้ตอบสนองต่อความต้องการของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ รวมถึงให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกับระดับสากล โดยตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่ผ่านมา สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ได้ดำเนินการ
•    สำรวจความต้องการของภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รับบริการหรือได้รับประโยชน์รวมถึงผลกระทบจากการมีรัฐบาลดิจิทัล 
•    ศึกษารูปแบบขีดความสามารถเชิงดิจิทัลของประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านรัฐบาลดิจิทัลสูง (Leading Practices) เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนา
•    รวมถึงจัดการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละด้าน เพื่อประเมินขีดความสามารถเชิงดิจิทัลของภาครัฐไทยในปัจจุบัน รวมถึงเป้าหมายในการพัฒนาในกรอบระยะเวลา 3 ปี

    

ขณะนี้ทางสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ได้ดำเนินการมาถึงขั้นตอนการจัดทำ ร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลระยะ 3 ปี ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขอความคิดเห็นจากทุกท่านต่อร่างแผน ฯ ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการจัดงานในวันนี้ขึ้น ทั้งนี้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์มีความยินดีที่จะเรียนทุกท่าน ว่าร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลได้ดำเนินการมาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว ซึ่งโครงการนี้จะสำเร็จหรือมีโอกาสมาถึงจุดนี้ไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือและสนับสนุนอันดีจากทุกท่านและทุกๆ หน่วยงาน