EGA มอบประกาศนียบัตรผู้สำเร็จหลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่น 5 (e-GEP#5)พัฒนาไอทีภาครัฐไทยเพื่อบริการประชาชนยุคเศรษฐกิจดิจิทัล


1 October 2558
1642

สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA จัดงานสัมมนา “ก้าวสู่ผู้บริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ระดับสากล” และพิธีมอบประกาศนียบัตรผู้สำเร็จโครงการอบรมหลักสูตรนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ 5 หรือ e-Government Executive Program: e-GEP#5 เพื่อสอดรับกับนโยบายด้านกรอบยุทธศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ที่มุ่งเน้นให้ภาครัฐพัฒนาหน่วยงานให้ก้าวสู่ Digital Government โดยมี นาวาเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ (ICT)  ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวปิดงานและมอบประกาศนียบัตร และมีนางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวรายงาน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส ซึ่งมีผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ สำเร็จโครงการอบรมหลักสูตรดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 34 ท่าน

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.908488072554168.1073741945.542226425847003&type=3

——————————————————————————–

ข่าวประชาสัมพันธ์

นักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐจัดหนัก ส่งข้อเสนอพัฒนาระบบไอทีภาครัฐใหม่ ชี้แค่มีคลาวด์ภาครัฐไม่พอต้องก้าวสู่การบังคับใช้แบบจริงจัง เน้นการแบ่งปันการใช้ซอฟต์แวร์ภาครัฐและสร้างมาตรฐานร่วมกัน ชี้การบูรณาการและการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต้องเกิดแบบเร่งด่วน สนับสนุนให้เกิดโครงการนำร่องเต็มตัว

    นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า จากการที่ EGA ได้ฝึกอบรมผู้บริหารระดับนโยบายของหน่วยงานรัฐ ในโครงการ นักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ โดยล่าสุดผู้เข้าอบรมรุ่นที่ 5 ได้จัดทำ “ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้บริการประชาชนยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT ด้วยการเสนอว่างานขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฎิบัติจะสัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรมนั้น จะต้องดำเนินไปอย่างมีแนวปฎิบัติที่ดี (Better Practice/Guideline) มีมาตรฐาน (Standards) และเน้นการบูรณาการทรัพยากรร่วมกัน (Shared Resource)  โดยมีข้อเสนอทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ 4 ประเด็นหลัก คือข้อเสนอแนะด้านการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านการบริหารจัดการแอปพลิเคชัน (Software Application) ด้านการบูรณาการข้อมูลภาครัฐ ด้านการให้บริการประชาชน 

    ในด้านการจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) นั้นทางคณะผู้บริหารรุ่นที่ 5 เห็นว่าระบบคลาวด์คอมพิวติ้งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการวางพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีหลักในปัจจุบัน เพื่อลดปัญหาความต้องการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและความสลับซับซ้อนต่างกันอย่างมากของหน่วยงานรัฐ ระบบคลาวด์ฯ จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ลดค่าใช้จ่าย และเป็นหนทางในการพัฒนาบริการที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง การวางยุทธศาสตร์การบังคับให้หน่วยงานรัฐมาใช้งานบนระบบคลาวด์ฯ ต้องมีการวางจังหวะเวลาที่เหมาะสม โดยเริ่มจากการส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐใช้งานแต่ไม่ได้บังคับใช้ (ในลักษณะ “may choose”) จนมาถึงการที่หน่วยงานภาครัฐต้องใช้เทคโนโลยีคลาวด์ฯ ในการจัดทำระบบใหม่หรือทดแทนระบบเดิม พร้อมทั้งจัดทำทำคู่มือแนวทางการทำงานในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบคลาวด์ฯ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะหน่วยงานขนาดเล็กและหน่วยงานท้องถิ่นยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ

    ส่วนข้อเสนอแนะทิศทางการบริหารจัดการ Software Application นั้น รัฐต้องตั้งหน่วยงานกลางที่มีอำนาจและบทบาทชัดเจนในการกำหนดนโยบาย กฎระเบียบ มาตรฐานและแนวปฏิบัติ รวมถึงต้องผลักดันการดำเนินงานด้วยการเชื่อมโยงข้อมูล งบประมาณ ให้คำปรึกษา และตรวจสอบ ติดตามประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมและอย่างยั่งยืน สำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันพื้นฐานภาครัฐนั้นเห็นว่า ต้องเปิดกว้างและให้มีทางเลือกในการปรับแต่งหรือ Customized ในบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอปพลิเคชันที่เป็นระบบสนับสนุนการทำงาน หรือ Back Office รวมถึงมีหน่วยงานที่มีบทบาทในการให้คำปรึกษาและเป็นผู้จัดการโครงการ จนถึงการประเมินผล ติดตาม และท้ายสุดในการบริหารจัดการให้กับหน่วยงานภาครัฐต้องมี แอปพลิเคชันที่สามารถแบ่งปันกันใช้ เพื่อร่วมกันในการบูรณาการงานตามภารกิจ

    สำหรับข้อเสนอแนะทิศทางการบูรณาการข้อมูลภาครัฐนั้น ทางนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ 5 เสนอว่า รัฐบาลต้องเร่งผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานมีภารกิจและความรับผิดชอบในการจัดทำข้อมูลของหน่วยงานให้ “พร้อมใช้” คือ ถูกต้อง ครบถ้วน ทันสมัย และ “พร้อมให้บริการ” คือ พร้อมเชื่อมโยงตามมาตรฐานที่กำหนดเมื่อมีการขอใช้บริการ ผลักดัน “การจำแนกหมวดหมู่ข้อมูลภาครัฐ” ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสามารถกำหนดหน่วยงานผู้รับผิดชอบและปรับปรุงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บข้อมูล 

    ส่วนข้อเสนอแนะทิศทางการให้บริการประชาชนนั้น ทางนักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ 5 เสนอว่า ต้องมีการการจัดตั้งหน่วยงาน Digital Transformation Office ขึ้นภายใต้สำนักนายกฯ เพื่อผลักดันให้มีการออกแบบบริการภาครัฐในรูปแบบดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ต้องจัดทำช่องทางที่ประชาชนสามารถติดต่อและเข้าถึงบริการของหน่วยงานภาครัฐได้ในลักษณะการสื่อสารสองทาง นอกจากนั้นต้องกำหนดให้มีหน่วยงานกลางที่มีอำนาจและบทบาทชัดเจนในการกำหนดมาตรฐานการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ

    ต้องมีการผลักดันวาระแห่งชาติ โดยให้ทุกส่วนราชการของรัฐต้องสำเร็จผลในการเลิกใช้สำเนาส่วนบุคคลทุกรายการ ทุกส่วนราชการต้องมีการเปิดเผยข้อมูลและบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องต้องมีการขยายผลและผลักดันการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดทำคู่มือประชาชน เพื่อนำเข้าไปอยู่ในศูนย์รวมคู่มือประชาชนที่ปัจจุบันได้จัดทำไว้แล้ว คือ www.info.go.th เพื่อให้ประชาชนและผู้รับบริการสามารถสืบค้นได้จากช่องทางเดียวอย่างมีเอกภาพ

    นอกจากข้อเสนอทั้ง 4 ด้าน นักบริหารรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ รุ่นที่ 5 มีความเห็นว่าการที่จะขับเคลื่อนรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยกระดับการให้บริการภาครัฐและอำนวยความสะดวกประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือ กรอบนโยบายและแผนการดำเนินงานด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีกลไกที่สร้างความต่อเนื่องไม่เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลหรือผู้บริหารยุทธศาสตร์ด้านงบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศต้องมีความชัดเจน และหน่วยงานที่มีบทบาทในการอนุมัติและตรวจสอบต้องมีความเข้าใจในความจำเป็นและแนวโน้มเทคโนโลยีที่มีความสำคัญในการยกระดับประสิทธิภาพภาครัฐ การสนับสนุนด้านการพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งในเรื่องอัตรากำลังและความก้าวหน้าทางสายอาชีพ

นาวาเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวง ICT กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทุกท่านในที่นี้ ล้วนอยู่ในฐานะตำแหน่งที่มีบทบาทของการเป็นผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กร ซึ่งเป็นผู้กำหนดและวางแผนเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในองค์กรให้เป็นไปทิศทางที่เหมาะสม สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจขององค์กร หน่วยงาน และการบริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ตามนโยบายของรัฐบาล สำหรับข้อเสนอแนะที่ทุกท่านได้เสนอมานั้นถือเป็นแนวทางการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้บริการประชาชนยุคเศรษฐกิจดิจิทัลได้เป็นอย่างดี ซึ่งทางกระทรวงฯ โดย EGA จะรับไปพิจารณาและศึกษาแนวทางในการปฏิบัติในลำดับต่อไป