ICT ร่วมกับ EGA เปิดโครงการนำร่อง Government Cloud Service


16 March 2558
1896

_1100797 resize.jpg

กระทรวงไอซีทีปรับโครงสร้างการจัดซื้อไอทีภาครัฐทั้งประเทศ สั่งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งระบบคลาวด์คอมพิวติ้งภาครัฐรองรับ หวังลดงบประมาณภาครัฐอย่างน้อย 30% และให้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยได้ตลอดเวลา เชื่อแนวโน้มบริการประชาชนด้วยอิเล็กทรอนิกส์จะก้าวกระโดด

นาวาเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที เปิดเผยว่า จากการสำรวจค่าใช้จ่ายภาครัฐในตลาดคอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ และตลาดคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ พบว่ามีสัดส่วนถึงร้อยละ 81 จากมูลค่าการใช้จ่ายด้าน IT ของภาครัฐทั้งหมด หรือมูลค่าค่าใช้จ่ายเกือบ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันปัญหาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านมาทำให้ภาครัฐมักได้ใช้ เทคโนโลยีเก่าในราคาแพง แต่ปริมาณความต้องการของประชาชนที่ต้องการให้รัฐนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ มีสูงขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นเทคโนโลยีที่เป็นทางออกในปัจจุบันคือระบบคลาวด์คอมพิวติ้งภาครัฐนั่น เอง

ระบบคลาวด์คอมพิวติ้งเป็นเทคโนโลยีที่นำมาใช้เพื่อลดความซ้ำซ้อนด้านต้นทุน ลดการใช้พลังงาน ซึ่งหลายประเทศในโลกได้มีการวางแผนและกำหนดแนวนโยบายเพื่อนำเทคโนโลยีดัง กล่าวมาใช้เพื่อให้บริการสำหรับระบบงานภาครัฐ และให้บริการประชาชน เพิ่มความสะดวก รวดเร็วในการให้บริการจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อตอบสนองต่อเทคโนโลยีและความต้องการบริการจากภาครัฐที่มากขึ้นของ ประชาชน

จากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นได้ก่อความเสียหายให้กับระบบคอมพิวเตอร์และศูนย์ คอมพิวเตอร์ภาครัฐเป็นอย่างมาก ดังนั้นการป้องกันข้อมูลและระบบงานคอมพิวเตอร์จากความเสียหาย หรือลดความเสี่ยงจากความสูญเสียของข้อมูลจึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะต้องนำ มาพิจารณา ระบบคลาวด์คอมพิวติ้งซึ่งมีแนวคิดในการทำงานโดยการเพิ่มประสิทธิภาพ กระจายความเสี่ยงของระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย สามารถแยกการทำงานของระบบต่างๆ ออกไปยังศูนย์คอมพิวเตอร์สำรองที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ได้ทันที โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานและการให้บริการของระบบ

ทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีทีจึงได้ให้ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. ที่มีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบเครือข่าย บุคลากรในการช่วยเหลือและสนับสนุน รวมถึงการบริหารจัดการ ทำการศึกษาและทดสอบระบบคลาวด์คอมพิวติ้งเพื่อเป็นโครงการนำร่องไปสู่ Government Cloud ของประเทศ โดยหน่วยงานภาครัฐต่างๆ จะนำระบบงานเพื่อให้บริการประชาชนมาติดตั้งในระบบคลาวด์คอมพิวติ้งเพื่อ ทดสอบการให้บริการประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอด ๒๔ ชั่วโมง

ซึ่งผลจากการทดสอบและดำเนินการนั้นจะเป็นข้อมูลในการดำเนินการในระยะยาว เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ลดงบประมาณของชาติในการลงทุน การบริหารจัดการ การจัดซื้อเครื่องแม่ข่ายและอุปกรณ์  ลดการใช้พลังงาน รวมถึงเป็นการส่งเสริม e-Government ของประเทศไทย

ปัจจุบันหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคได้เริ่มใช้งานระบบคลาวด์เพื่อให้ บริการแก่ประชาชนแล้ว เช่น ในประเทศออสเตรเลีย มีแผนการย้ายระบบบริการประชาชนทุกอย่างเข้าสู่ระบบคลาวด์โดยคาดว่าจะมีการ จัดทำในรูปแบบของ Public Cloud ให้แล้วเสร็จภายในปี 2554 และดำเนินการต่อสำหรับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ในปี 2555 ส่วนประเทศอื่นๆ เช่นไต้หวัน เวียดนาม อินเดีย ก็มีการศึกษา และ เริ่มลงทุนในระบบคลาวด์คอมพิวติ้งด้วยแล้วเช่นกัน ซึ่งหากประเทศไทยยังไม่มีการพิจารณาเพื่อนำไปใช้งานระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง นอกจากจะส่งผลเรื่องภาพลักษณ์ของประเทศแล้ว ยังจะส่งผลถึงความสามารถในการให้บริการในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อยามเกิดเหตุภัยพิบัติ ซึ่งเกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ข้อมูลและระบบเครือข่าย  

อีกทั้งระบบงานสมัยใหม่ได้ปรับเปลี่ยนระบบเข้าสู่คลาวด์คอมพิวติ้งแล้วและมี เอกชนทั้งไทยและต่างประเทศจำนวนมากเข้ามาใช้งานระบบงานนี้ ดังนั้นทิศทางของรัฐบาลไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงระบบนี้ได้ แต่หากจำเป็นต้องให้แต่ละหน่วยงานภาครัฐนำระบบของตนเองไปผูกกับคลาวด์ในต่าง ประเทศ อาจเกิดปัญหาทางด้านความมั่นคงขึ้นมาได้ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สรอ.เร่งเข้ามาจัดตั้งระบบคลาวด์ของภาครัฐขึ้นมาโดยเร่งด่วน

แนวทางผลักดันและเป้าหมายของกระทรวงไอซีทีต่อโครงการนำร่องนั้น ในเบื้องต้นได้มอบหมายให้สรอ. จัดทำระบบทดสอบขึ้นมาโดยเร่งด่วน โดยสรอ.จะทดสอบร่วมกับหน่วยงานนำร่องจำนวน 10หน่วยงานเพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำระบบคลาวด์มาใช้งานจริงในการ ให้บริการประชาชน ทั้งนี้แต่ละหน่วยงานจะได้รับจัดสรรเครื่องแม่ข่ายที่อยู่บนระบบคลาวด์ของ สรอ. โดยมีขอบเขตในการดำเนินการทดสอบอยู่ที่ 3เดือน หลังจากนั้น เมื่อทำการทดสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว สรอ. จะนำผลที่ได้จากการทดสอบ มาศึกษาถึงความต้องการ และผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการเปิดให้บริการจริงในช่วงเดือน เมษายน 2555โดยเพิ่มจำนวนหน่วยงานที่ประสงค์จะขอใช้บริการขึ้นไป ทั้งนี้สำหรับการเจรจาในระดับกระทรวงอาจมีการพิจารณาให้เป็นมติ ครม. เพื่อความสะดวกในการดำเนินงานต่อไป

การผลักดัน Government Cloud Service ในครั้งนี้จะส่งผลต่อการบริการของภาครัฐต่อเอกชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอย่างมาก โดยในระยะสั้น การบริหารการจัดการระบบเครือข่ายของภาครัฐจะดีขึ้น และสามารถประหยัดงบประมาณทางด้านการลงทุนระบบได้อย่างน้อย 30% จากตัวเลขที่ในระดับโลกประเมินมาแล้ว ซึ่งในขณะนี้ทาง ICT ได้มอบหมายให้ทางสรอ. ศึกษาว่าจะใช้งบประมาณเพื่อดำเนินโครงการ GovernmentCloud Services เป็นจำนวนเท่าไหร่ และประหยัดค่าใช้จ่ายสุทธิประมาณเท่าไร คาดว่าผลการศึกษาจะเปิดเผยได้ในช่วงกลางปี 2555

ส่วนในระยะยาวภาพรวมการบริการผ่านระบบคอมพิวเตอร์ของภาครัฐทั้งหมด จะใหญ่ขึ้นโดยกระจายผ่านสรอ. ซึ่งจะเข้ามาบริหารจัดการผ่าน Data Center ต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยทางหน่วยงานภาครัฐญต่างๆ ไม่จำเป็นต้องสนใจว่าทางสรอ.จะจัดงานอย่างไร ขณะที่ สรอ.เองจะมีระบบ GIN ที่ตนเองดูแลอยู่คอยให้การสนับสนุน ซึ่งจะทำให้หน่วยงานรัฐจำนวนมากสามารถทำงานผ่านระบบออนไลน์ เชื่อมโยงกรม กอง ต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์ สามารถทำงานผ่านระบบโมบายได้อย่างง่ายดาย มีความรวดเร็ว และเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง กลายเป็น Smart Network ในที่สุด

สำหรับภาคประชาชนนั้น ในระยะสั้น จะเกิดบริการของภาครัฐใหม่ๆ ให้บริการผ่านระบบออนไลน์เพื่อสร้างความสะดวกสบายมากขึ้น โดยระบบจะมีการปรับแต่งให้มีความทันสมัยตลอดเวลา ระบบจะมีความเสถียรและให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่มีสะดุด ส่วนในระยะยาวนั้น ธุรกรรมทางด้านออนไลน์ของภาคประชาชนกับภาครัฐจะเติบโตขึ้น สามารถเข้าไปเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ง่ายขึ้น

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทดผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาล อิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจตลาด IT ประเทศไทย มีอัตราการขยายตัวปี 2554 สูงถึง 15.6% โดยคิดเป็นมูลค่าตลาด 293,237ล้านบาท ภาครัฐมีการใช้จ่ายด้าน IT ประมาณ 20.8% หรือ 59,818 ล้านบาท ในส่วนของบริการด้าน Data Center and Disaster Recovery Center มีมูลค่าตลาดเท่ากับ 6,903ล้านบาท โดยภาครัฐมีการใช้จ่ายในส่วนนี้ถึง 2,567ล้านบาท หรือ 38.5%เพื่อใช้ในการสร้างศูนย์ข้อมูลคอมพิวเตอร์ (Data Center) จัดหาครุภัณฑ์เครื่องแม่ข่ายและระบบ หรือใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพและความ ต่อเนื่องของการให้บริการจากหน่วยงานภาครัฐไปยังภาคประชาชน แต่นอกจากค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้วความเชี่ยวชาญของบุคลากร ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ความพร้อมในการดูแลบำรุงรักษาระบบให้พร้อมให้บริการตลอด 24ชั่วโมง รวมถึงมาตรการในการลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติก็เป็นอีกปัจจัย หลักที่ควรจะต้องมีการพิจารณาในการลงทุนเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตามสัดส่วนการเข้ามาใช้ระบบ SaaS หรือ Software as a Service ยังมีอยู่น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่ยังคุ้นเคยกับการจัดซื้อจัดจ้างแบบเดิมคือ ตั้ง TOR และผ่านกระบวนการจัดซื้อเพื่อเป็นเจ้าของระบบคอมพิวเตอร์ในที่สุด โครงสร้างการจัดซื้อระบบคอมพิวเตอร์แบบเดิมนับเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบตาม มาในระยะยาว เนื่องจากระบบที่ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างนั้นมักไม่ทันสมัย เนื่องจากการเขียนสเป็กของเทคโนโลยีเพื่อจัดประมูลนั้นรวมระยะเวลาเกือบ หนึ่งปี ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาครัฐต้องซื้อเทคโนโลยีเก่าในราคาแพง อีกทั้งกระบวนการจัดซื้อที่กินเวลานาน ทำให้การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาทำได้ล่าช้า และยังมีกระบวนการดูแลรักษาต่อเนื่องที่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก อีกทั้งต้องเสียต้นทุนในการปรับแต่งระบบหรือการอัพเกรดเอง

ปัจจุบันคาดการณ์ว่ามูลค่าการใช้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งและ SaaS ในประเทศไทยจะคิดเป็นประมาณ 2,087ล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโต 22.9%โดยเป็นกลุ่มผู้ใช้งานรัฐและเอกชนถึง71.3%หรือ 180,821ล้านบาท

โครงการ Government Cloud Service ที่เปิดตัวในครั้งนี้ถือเป็นโครงการนำร่อง โดยทางสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์และกระทรวงไอซีทีได้จัดเป็นโครงการทดลอง เพื่อสร้างเป็นต้นแบบ โดยมีระยะเวลา 3เดือน หน่วยงานภาครัฐที่ต้องการใช้บริการ Government Cloud Service จะสามารถใช้บริการได้ตามจำนวนหรือขนาดของความสามารถของทรัพยากรตามความต้อง การ โดยไม่จำเป็นต้องทราบว่าทรัพยากรที่มีอยู่นั้นมีรายละเอียดคุณสมบัติทาง กายภาพเป็นอย่างใด แต่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตรงกับความต้องการและระบบงานที่ใช้ใน การให้บริการ ซึ่งหน่วยงานที่ขอใช้บริการสามารถมุ่งเน้นด้านการพัฒนาระบบงานโดยไม่มีความ จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงการบำรุงรักษาและดูแลเครื่องแม่ข่ายทางด้านกายภาพ

ในส่วนของระบบนำร่อง เบื้องต้นจะมีประมาณ 2-3ระบบ ที่จะนำมาเข้าร่วม อย่างไรก็ตามโครงการนี้จะไม่มีการปิดกั้นว่าจะต้องเป็นบริการที่เป็น Application เพียงเท่านั้น อาจจะเป็นบริการอื่นๆ หรือเป็นการให้บริการข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนก็ได้ เมื่อหน่วยงานนำระบบงาน ด้านงบประมาณและค่าใช้จ่ายมาเข้าร่วม ในขั้นแรกอาจยังไม่เห็นภาพแต่หากมองงานเบื้องหลังและระบบที่จะต้องรองรับ แล้ว จะเห็นว่าสามารถประหยัดได้ตั้งแต่ค่าสาธารณูปโภค คือค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจัดทำห้อง Data Center พื้นที่ ค่าบริหารจัดการเครื่องแม่ข่าย ค่าบำรุงรักษา รวมถึง ค่าเครื่องแม่ข่ายด้วย ซึ่งโดยรวมๆ แล้ว สามารถลดค่าบริหารจัดการและค่าสาธารณูปโภคซึ่งเป็น Hidden Cost ของหน่วยงานได้ 100%

ด้านความพร้อมในการติดตั้งระบบ Application นั้น คงไม่ต่างจากการที่หน่วยงานมีเครื่องแม่ข่ายของตัวเอง เนื่องจากผู้ดูแลระบบสามารถบริหารจัดการเครื่องแม่ข่ายเสมือนได้ ราวกับว่าเครื่องดังกล่าวเป็นเครื่องที่มีอยู่จริง สามารถบริหารจัดการได้ทุกอย่าง สำหรับความยากง่ายในการเข้ามาร่วมโครงการนั้น หากหน่วยงานใดมีความประสงค์ก็ยินดีให้เข้าร่วม หากยังไม่เกินจำนวนที่ได้คาดการณ์ไว้

โดยบริการของสรอ. ในเบื้องต้นจะเน้นบริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Cloud Infrastructure) หรือ Infrastructure-as-a-service (IaaS) เป็นการให้บริการระบบคอมพิวเตอร์และพื้นที่จัดเก็บข้อมูล (Storage) เหมาะสมกับหน่วยงานที่ไม่ต้องการลงทุนทางด้านฮาร์ดแวร์ โดยผู้ให้บริการจะเป็นผู้จัดสรรทรัพยากร (Resource) ของระบบ ออกมาในรูปของบริการ  เช่น เครื่องแม่ข่าย, หน่วยความจำ, หน่วยประมวลผล, พื้นที่จัดเก็บข้อมูล หรือ อุปกรณ์เครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งผู้ให้บริการสามารถกำหนดประสิทธิภาพของระบบที่ให้บริการได้ตามความเหมาะ สมและความต้องการของผู้ใช้งาน ตัวอย่างผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบัน เช่น RightScale, Amazon’s EC2, GoGrid, Linode เป็นต้น

ดังนั้นสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐในการสร้างระบบคอมพิวเตอร์ในระยะยาวก็ คือ สามารถมีบริการทางด้านเทคโนโลยีได้ในทันที จากเดิมอย่างน้อย 6เดือนจะเหลือเพียงแค่ 1วัน และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะเกิดมาจากการใช้จ่ายตามจริง ไม่ใช่การซื้อมากองไว้แล้วได้ใช้บ้างไม่ได้ใช้บ้างเหมือนที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สรอ.ต้องดำเนินการเร่งด่วนก็คือ การเข้าไปศึกษาเรื่องระเบียบของภาครัฐในการจัดซื้อจัดจ้างแบบการใช้บริการ SaaS เพราะหลายหน่วยงานอาจจะไม่คุ้นเคย โดยสรอ.เชื่อว่าการเริ่มโครงการในช่วงนี้จะตรงกับการวางแผนการเขียนแผนงบ ประมาณในปี 2556ซึ่งจะทำให้ในปีหน้าจะมีหน่วยงานรัฐทีจะเข้ามาใช้บริการ Cloud เพิ่มมากขึ้นจำนวนมาก

สำหรับแผนระยะยาว ซึ่งสรอ.จะได้บทเรียนต่างๆ จากช่วงโครงการนำร่องนี้  จะมีการพัฒนาบริการเพื่อรองรับการทำงาน และใช้งานจริง เพื่อตอบสนองต่อการให้บริการประชาชน โดยในระยะยาวจะมองความสามารถในการรองรับการให้บริการหน่วยงานภาครัฐ ให้มากถึง 100หน่วยงาน โดยบริการในช่วงหลัง เมษายน นั้น จะเป็นรูปแบบของการให้บริการจริง ในการทำงานและดำเนินการทุกอย่างจะถูกควบคุมโดยมาตรฐาน ซึ่ง สรอ. ได้มีการนำมาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็น ISO9001:2008, ISO20000, ISO27001:2005เป็นต้น

ส่วนพันธมิตรภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมสนับสนุนนั้น ปัจจุบันจะมีอยู่หลายราย เพื่อทดสอบและเรียนรู้ถึงข้อมูล ความสามารถขั้นพื้นฐาน และความสามารถต่างๆ ของระบบ เพื่อใช้ในการกำหนด TOR สำหรับการจัดหา หรือเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินโครงการต่อไป ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันในการส่งเสริมความเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ต่อไป

ในการเชื่อมต่อกับระบบ Cloud อื่นๆ เบื้องต้นอาจจะต้องพิจารณาถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่จะเผยแพร่ ว่าอยู่ในลำดับชั้นความลับใด เนื่องจากข้อมูลข่าวสารของภาครัฐ ถือเป็นสิ่งที่มีความอ่อนไหวทั้งต่อการบริหารประเทศ และประชาชน ซึ่งหากเป็นข้อมูลที่เผยแพร่ได้ ก็มีความเป็นไปได้ในการที่จะเชื่อมต่อและเชื่อมโยงไปยังระบบอื่นๆ ต่อไป

หน่วยงานเอกชนที่เข้ามาเป็นพันธมิตรในโครงการนำร่องคลาวด์คอมพิวติ้งภาครัฐ ในครั้งนี้ประกอบด้วย เน็ตแอพ,ซิสโก้,วีเอ็มแวร์,ไมโครซอฟท์ และกสท.