ปลัดกระทรวงไอซีที เปิดการสัมมนา “ยกระดับการให้บริการประชาชนผ่านเว็บไซต์


16 March 2558
1207

นางจีราวรรณ บุญเพิ่มปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง “ยกระดับการให้บริการประชาชนผ่านเว็บไซต์” เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๕  ณ ห้องทิวลิป ชั้น ๑ โรงแรม รามากาเด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร จัดโดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)

การสัมมนาครั้งนี้ ได้บรรยายหัวข้อเรื่อง “รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ กับการให้บริการประชาชน” โดย ดร.ศักดิ์   เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และเสวนาหัวข้อเรื่อง “การให้บริการอิเล็กทรอนิกส์(e-Service) จากภาครัฐสู่ประชาชน” โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งประกอบด้วย นายชัยณรงค์ โชไชยผู้อำนวยการสำนักข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, นางพัชรินทร์ นาคะประวิง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร, นางนิตยา สีดาฟอง ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ กรมธนารักษ์, .ส. อภิณห์พร อังคกมลเศรษฐ์ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน)และ ดำเนินการเสวนาโดย .ส. นันทนา พจนานันทกุล ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรมรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน)

นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า ตามที่ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  ดำเนินการจัดทำ “มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ” (Government Website Standard)โดยมุ่งหวังให้หน่วยงานภาครัฐได้มีแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุง เว็บไซต์ของหน่วยงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับหน่วยงาน อีกทั้งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างภาคประชาชน หน่วยงานราชการ ตลอดจนองค์กรธุรกิจ เพื่อยกระดับความสามารถของการให้บริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์ของ หน่วยงานภาครัฐ ให้สามารถก้าวไปสู่จุดหมายของการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (e-Services) ที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง

หากพิจารณาจากการสำรวจเพื่อจัดอันดับการพัฒนา e-Government ของกลุ่มประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations e-Government Readiness) ในรายงาน United Nations  E-Government Survey ๒๐๑๒ พบว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ ๙๒ จากจำนวนประเทศสมาชิกทั้งหมด ๑๙๓ ประเทศ ซึ่งปี ค.ศ. ๒๐๑๐ ประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ ๗๖ และปี ค.ศ. ๒๐๐๘ ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ ๖๔

ดัชนีชี้วัดการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Development Index: EGDI) ในปีค.ศ. ๒๐๑๒ ประกอบด้วยดัชนีย่อย ๓ ด้าน จากคะแนนเต็ม ๑ ในแต่ละด้าน พบว่า

  • Online Service Indexประเทศไทยได้คะแนน ๐.๕๐
  • Telecommunication Infrastructure Indexประเทศไทยได้คะแนน ๐.๒๓
  • Human Capital Index ประเทศไทยได้คะแนน ๐.๗๘
  • หากพิจารณา Online ServiceIndex ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ ๔ รองจากประเทศที่เป็นอันดับหนึ่ง คือประเทศสิงคโปร์ มาเลเซียและบรูไน ตามลำดับ

    จากผลประเมินดังกล่าวข้างต้น ประเทศไทย มีแนวโน้มที่แย่ลงเรื่อยๆ ดังนั้นการสัมมนาครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีที่หน่วยงานราชการจะได้รับทราบ “มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ”ไปประยุกต์ใช้เพื่อปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ของ หน่วยงาน ตลอดจนได้รับฟังการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในด้าน “การให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) จากภาครัฐสู่ประชาชน”จาก กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการเกษตร และ กรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานตัวอย่าง และเป็นแรงบันดาลใจให้กับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service)ตอบสนองภารกิจของหน่วยงานในการบริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้น และขอขอบคุณผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่ให้เกียรติ และเล็งเห็นถึงความสำคัญในการสัมมนาครั้งนี้

    ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) กล่าวว่า ตามที่ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  ดำเนินการจัดทำ “มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ” (Government Website Standard) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้การพัฒนาเว็บไซต์ของหน่วยงานราชการเป็นไปใน ทิศทางเดียวกัน และเพื่อให้การดำเนินการจัดทำ “มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ” บรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการนำไปใช้จริง โดยมีกระบวนการในการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับทั้งในระดับหน่วยงานผู้ให้บริการ ตลอดจนผู้รับบริการทุกภาคส่วน

    ปัจจุบัน สรอ. ได้ดำเนินการจัดทำมาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ แล้วเสร็จ และจัดทำเป็นเอกสารรูปเล่มส่งให้กับหน่วยงานราชการระดับกรมขึ้นไปแล้ว เพื่อเป็นการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานราชการในการพัฒนา ปรับปรุงเว็บไซต์ต่อไป ทั้งนี้ ในขั้นตอน กระบวนการจัดทำ สรอ. ได้ดำเนินการ

  • หารือกับหน่วยงานภาคเอกชน กลุ่มสมาคม ที่รับพัฒนาเว็บไซต์ให้กับหน่วยงานราชการ
  • และจัดให้มีการสัมมนา โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานราชการระดับกรมขึ้นไป เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น จำนวน ๓ ครั้ง ประกอบด้วย
    • ๒ ครั้งแรก เป็นการสัมมนาเพื่อระดมความคิดเห็น (Focus Group) เกี่ยวกับมาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐขึ้น เมื่อวันที่ ๓ และ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕ โดยผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนามาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐให้มีความเหมาะสม ครอบคลุม และสมบูรณ์มากที่สุด
    • ครั้งที่ ๓ เป็นการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นในวงกว้าง (Public Hearing) เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เพื่อรับความคิดเห็นและปรับปรุง (ร่าง) มาตรฐานจนกระทั่งได้มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐฉบับสมบูรณ์
  • ประกอบกับ สรอ. ได้ทำการศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ที่เป็นกรอบตั้งต้นในการจัดทำมาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ อาทิ

  • ข้อมูลจัดอันดับการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ของกลุ่มประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations e-Government Readiness) ในรายงาน United Nations  E-Government Survey
  • กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เกี่ยวข้อง
  • ข้อมูลจากการสำรวจเชิงสถิติ การให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ของหน่วยงานภาครัฐ ประเทศไทย และ
  • กรณีศึกษาต่างประเทศ ทั้งมาตรฐานเว็บไซต์ที่แต่ละประเทศมีการจัดทำ และการให้บริการผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน เป็นต้น
  • นอกจากนี้ สรอ. ได้ทำการ ศึกษาสถานภาพปัจจุบันของเว็บไซต์ภาครัฐในระดับกระทรวง โดยเป็นการสำรวจสถานภาพปัจจุบันของการให้บริการผ่านเว็บไซต์ของหน่วย งานราชการ ซึ่งพิจารณาจากเนื้อหา (Content) และการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) รวมถึงคุณลักษณะที่เว็บไซต์ควรมี ณ วันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕ จากผลการสำรวจ พบว่า

  • มีการให้บริการข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานและข้อมูลพื้นฐาน ร้อยละ ๗๒.๑
  • มีส่วนของการปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการ ร้อยละ ๖๕.๒๕
  • มีส่วนของการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service)และบันทึกลงแบบฟอร์มต่างๆ ร้อยละ ๓๔.๐
  • มีลักษณะที่ควรมีตามมาตรฐานเว็บไซต์ที่กำหนดไว้ ร้อยละ ๕๑.๕ และ
  • มีคุณลักษณะตามข้อกำหนดการทำให้เนื้อหาเว็บสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ร้อยละ ๒.๑๒
  • จะเห็นว่าหน่วยงานราชการ ยังมีความจำเป็นต้องทำการพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน เว็บไซต์อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สรอ. จึงได้จัดให้มีการสัมมนาเพื่อนำเสนอ และเผยแพร่ มาตรฐานเว็บไซต์ภาครัฐ (Government Website Standard) ในครั้งนี้ เพื่อมุ่งหวังว่าหน่วยงานราชการจักได้แนวทางพัฒนาและปรับปรุงเว็บไซต์ ตลอดจนจุดประกายการพัฒนาการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service)ต่อไป