อีจีเอ จับมือ กระทรวงแรงงาน ใช้ “จิน


13 March 2558
650

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (MICT) โดย ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน โดย นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน “ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐเพื่อประโยชน์ ในการดำเนินโครงการศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๕๖ ณ ห้องประชุม จอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น ๕ อาคารกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน ถนนไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ

สำหรับการลงนามครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่าง EGA และ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน อันเป็นหน่วยงานของรัฐในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้เป็น เครื่องมือในการบริหารจัดการและเพิ่มศักยภาพโครงการดังกล่าว ซึ่ง EGA สนับสนุนการให้บริการที่เป็นพันธกิจหลัก ดังนี้คือ 

๑. บริการเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network – GIN) โดยจัดให้มี Government Internet Gateway เพื่อเป็นช่องทางการสื่อสารและการให้บริการผ่านเครือข่าย Internet สำหรับหน่วยงานภาครัฐ, เครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานของรัฐ (GIN) เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานต่างๆ เป็นเส้นทางในการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงาน, ระบบบริการภาครัฐที่ส่วนราชการสามารถใช้งานร่วมกัน (Common Services) 

๒. บริการระบบบริการคลาวด์ภาครัฐ (Government Cloud Services) 

๓. จะร่วมกับ สป.รง. พัฒนาและให้บริการระบบบริการด้านแรงงาน (e-Labour Services) โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชน (Smart Card) ในโครงการ Citizen Smart Info ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการทำธุรกรรมหรือตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคล ด้านแรงงาน ให้เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ผ่านช่องทางการบริการของโครงการ Citizen Smart Info 

นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน  กล่าวในฐานะประธานพิธีลงนามความร่วมมือโครงการศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน ว่า ตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังแรงงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ โดยกำหนดแนวทางการพัฒนากำลังแรงงานในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๑ ไว้ ๓ ประการ คือ การเพิ่มขีดความสามารถของผู้จบการศึกษาในทุกระดับรองรับการเปลี่ยนแปลงของ ตลาดแรงงานและความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อีกทั้งการยกระดับคุณภาพกำลังแรงงาน โดยการดำเนินการร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน เพิ่มผลิตภาพกำลังแรงงาน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการจัดทำฐานข้อมูลแรงงานแห่งชาติ เพื่อเป็นศูนย์รวมของข้อมูลตลาดแรงงาน รวมทั้งข้อมูลแรงงานข้ามชาติที่เป็นระบบ เพื่อเป็นฐานข้อมูลที่ใช้บริหารจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างกำลังแรงงาน กับความต้องการของตลาดแรงงาน และเป็นฐานข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย 

“กระทรวงแรงงาน นับเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการข้อมูลแรงงาน เพื่อจะเป็นแหล่งข้อมูลให้ทุกหน่วยงานนำไปใช้ในการวางแผนและการจัดบริการ ตลอดจนการติดตาม การแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งที่เป็นกำลังแรงงานในและนอกระบบ ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และผู้พิการให้ได้รับบริการที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บรรลุวัตถุประสงค์ของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การลงนามความร่วมมือ (MOU) โครงการศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ ถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญที่จะมอบโอกาสที่ดีให้แก่แรงงานไทย เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนสืบไป” ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว

ทั้งนี้ การจัดทำโครงการศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ โดยกระทรวงแรงงาน เนื่องจากได้ศึกษาวิเคราะห์แล้วพบว่าข้อมูลด้านแรงงาน ซึ่งจัดเก็บโดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มีความซ้ำซ้อน มีการใช้รหัส รูปแบบการจัดเก็บและการใช้งานที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ยังจัดทำข้อมูลตามงบประมาณที่ได้รับ ทำให้การจัดเก็บข้อมูลขาดความต่อเนื่อง ข้อมูลแรงงานขาดความเป็นเอกภาพ ยากต่อการนำมาบูรณาการ วิเคราะห์และใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายระดับประเทศ  รวมถึงเสียงสะท้อนว่าการจัดทำข้อมูลภาครัฐไม่ค่อยสนองความต้องการของผู้ใช้ งานภาคเอกชนโดยเฉพาะผู้ประกอบการ ทั้งๆที่ให้ข้อมูลแก่ภาครัฐหลายแห่งๆ ในเรื่องเดียวกันอยู่บ่อยๆ จึงมองว่าเป็นภาระ และก่อให้เกิดความเบื่อหน่ายในการให้ข้อมูลแก่ภาครัฐ  กระทรวงแรงงานจึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น เพื่ออาสาที่จะเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการข้อมูลด้านแรงงานของประเทศ จากระบบสารสนเทศของหน่วยงานที่มีข้อมูลด้านแรงงานอยู่แล้ว โดยนำมาผ่านกระบวนการทำข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบมาตรฐานเดียวกัน ขจัดความซ้ำซ้อนของการจัดเก็บข้อมูลรายทะเบียน อีกทั้ง ยังเพิ่มความแม่นยำในการตรวจสอบข้อมูลกับหน่วยงานที่มีการจัดทำฐานข้อมูล ทะเบียนบุคคล อาทิ กรมการปกครอง เป็นต้น 

โครงการศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนแรงงานที่มีความเป็นเอกภาพได้ มาตรฐาน เพื่อให้สามารถจัดบริการด้านแรงงาน (Labour e-Service) ให้แก่ผู้ใช้แรงงาน สถานประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ครบถ้วนและไม่ซ้ำซ้อน  เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศเชิงบูรณาการที่สามารถนำเสนอข้อมูลหลากหลายมิติ ทั้งในเชิงการวิเคราะห์ เปรียบเทียบและพยากรณ์ และในเชิงพื้นที่ เพื่อนำไปใช้ในการกำหนดนโยบาย สนับสนุนการตัดสินใจ และแก้ปัญหาด้านแรงงานได้อย่างประสิทธิภาพ ทันสถานการณ์ และเพื่อให้กระทรวงแรงงานมีศูนย์ปฏิบัติการด้านแรงงาน ที่เป็นคลังข้อมูลแรงงานระดับประเทศ สามารถให้บริการข้อมูลสารสนเทศ แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการบริหารจัดการและวางแผนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้สามารถเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

“การผนึกกำลังในครั้งนี้สามารถนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาขีดความสามารถในการ แข่งขันของประเทศและจะต้องทำให้เกิดความยั่งยืน เพื่อเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกในทุกระดับ ด้วยอาจต้องถูกบังคับโดยกฎ กติกาของโลกในหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การพัฒนาฝีมือแรงงาน การศึกษาที่ต้องมีมาตรฐานระดับสากล การใช้แรงงานในกระบวนการผลิตสินค้าที่ต้องคำนึง ความปลอดภัย การไม่ใช้แรงงานเด็ก และต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น” ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว

สำหรับการผนึกกำลังความร่วมมือด้านข้อมูลของโครงการศูนย์ข้อมูลแรงงาน ของกระทรวงแรงงาน ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รวม ๑๒ แห่ง เพื่อจัดทำบันทึกความร่วมมือในการสนับสนุนข้อมูล เพื่อบูรณาการข้อมูลด้านแรงงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ประกอบด้วย สำนักงานสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ (สำนักงานปลัด) กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ ( กรมส่งเสริมการเกษตร) กระทรวงมหาดไทย (กรมการปกครอง) กระทรวงคมนาคม (กรมการขนส่งทางบก) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ และสำนักงานส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ)   กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) กระทรวงพาณิชย์ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ) สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ  ซึ่งนับเป็นความร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลแรงงาน เพื่อก่อให้เกิดความสำเร็จในการจัดทำฐานข้อมูลแรงงานของประเทศเป็นลำดับแรก  ซึ่งจะนำไปสู่การวางแผนพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพกำลังแรงงาน และวางแผนการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานในอันดับต่อไป

ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/eGovernmentAgency/media_set?set=a.608356035869417.1073741900.100000850770441&type=1