รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ต่างจากรัฐบาลดิจิทัลตรงไหน


11 October 2560
11250

รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ต่างจากรัฐบาลดิจิทัลตรงไหน
โดยดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในภาครัฐมีมานานแล้ว แต่คำว่า "รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์" จริงๆ แล้วน่าจะเริ่มในยุคที่ ประธานาธิบดี บิล คลินตัน ของสหรัฐอเมริกาที่มีการประกาศนโยบายในด้านนี้อย่างชัดเจน เพื่อจะเป็นช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐได้สะดวกขึ้น โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานนำข้อมูลและบริการให้ขึ้นเป็นระบบออนไลน์ภายใน 1 ปี ในช่วงเวลานั้นคือ ภายในปี ค.ศ. 2000 

สิ่งแรกที่ประชาชนสัมผัสได้จากการที่ข้อมูลและบริการภาครัฐไปอยู่บนเว็ปไซต์คือ ความรวดเร็ว และสะดวกอย่างเห็นได้ชัด เพราะช่วงนั้นการแพร่หลายของอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์เริ่มมีความสำคัญมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นแค่ข้อมูล แต่คนเริ่มเห็นว่านี่เป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารกันในอนาคต ผลคือหน่วยงานรัฐเริ่มเห็นถึงศักยภาพของอินเทอร์เน็ต จึงเกิดการพัฒนาระบบ Backoffice ที่เดิมจะจำกัดอยู่เฉพาะภายในหน่วยงาน ให้สามารถมีส่วนที่ติดต่อต่อกับประชาชนผ่านเว็บไซต์มากขึ้น ช่วงนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นการ re-engineering ระบบสารสนเทศภายในของหน่วยงานเลย แต่การพัฒนาไม่ได้หยุดแค่นั้นเพราะหน่วยงานเริ่มเห็นว่า ทำแค่หน่วยงานเดียวไม่เกิดผลสัมฤทธิ์เท่าที่ควร เลยเกิดการบูรณาการ เชื่อมโยงกันมากขึ้น นี่คือจุดพีคของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

รัฐบาลดิจิทัลมาเริ่มประมาณยุค บารัค โอบามา เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ที่หลังจากรับตำแหน่ง คำสั่งแรกถึงทุกหน่วยงานคือ การเปิดข้อมูลสู่สาธารณะ ข้อมูลที่ว่าไม่ใช่ข้อมูลประชาสัมพันธ์ แต่หมายถึงฐานข้อมูล ที่นักพัฒนาสามารถนำไปใช้ต่อได้ทันที ผลคือ เกิดกระแสรัฐบาลเปิดกันทั่วโลก หรือที่เรียกว่า Open Government เหตุผลที่รัฐบาลต่างๆ เปิดข้อมูลกันอย่างมโหฬารเพราะ เทคโนโลยีดิจิทัล ได้สำแดงถึงศักยภาพของประชาชนที่จะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ต่อได้อย่างง่ายและสะดวก ซึ่งเป็นวิธีการใหม่ที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนนั่นเอง

รัฐบาลดิจิทัลยังรวมความถึงการเปลี่ยนวิธีการทำงานของภาครัฐแบบใหม่เลย บางกรณีถึงกับยกเลิกวิธีทำแบบเดิมไปเลย อย่างเช่น การกำหนดให้ประชาชนต้องวาดแผนที่สถานที่ตั้งของสถานประกอบการ ก็เปลี่ยนมาให้กรอกจุดพิกัดตำแหน่งโดยใช้ GPS แทน หรือ การให้ส่งสำเนาเอกสารโดยใช้โทรสารก็อาจจะใช้โปรแกรมแช็ตส่งแทน เป็นต้น เหล่านี้คือการคิดใหม่ที่คนภาครัฐต้องเริ่มหันมาให้ความสนใจ เพราะในยุคดิจิทัลประชาชนเขาพร้อมแล้วกับการใช้เครื่องมือใหม่ๆ ในการทำธุรกรรมออนไลน์กับภาครัฐ

ประเทศไทยได้มีนโยบายด้านการเปิดข้อมูลตั้งแต่ปี 2558 ที่มีการจัดตั้งเว็บไซต์ Data.go.th ที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลเปิดจากภาครัฐ ปัจจุบันมีข้อมูลเปิดกว่า 1,000 ชุดข้อมูล นี่คือจุดเริ่มของการไปสู่รัฐบาลดิจิทัลที่จะทำให้ประชาชนมามีส่วนร่วมมากขึ้นนั่นเอง

———————————–
ตีพิมพ์ลงใน หนังสือพิมพ์ Posttoday ฉบับวันที่ 10 ตุลาคม 2560
คอลัมน์ e-Government หมวดเศรษฐกิจดิจิทัล หน้า C7