ใช้บิ้กดาต้าค้นหา “คนจน” (ที่จนจริงๆ)


5 June 2560
2119

ใช้บิ้กดาต้าค้นหา “คนจน” (ที่จนจริงๆ)
โดยดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

การช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้เป็นนโยบายที่ทุกรัฐบาลมักให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คำถามคือใคร
ล่ะคือ คนที่จนจริงๆ จากตัวเลขเส้นความยากจนอิงตามมาตรฐานสากล (the World Bank, 2015) แล้วรายได้ไม่เกิน 1.90 ดอลลาห์ต่อวัน หรือรายได้ต่อปีไม่เกิน 24,000 บาท ความยาก คือ รัฐบาลจะรู้ได้ไงว่าคนเหล่านี้มีรายได้เท่าไหร่กันแน่

การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยเป็นอีกทางออกที่จะได้มาซึ่งข้อมูล แต่ประชาชนที่มาลงทะเบียนส่วนใหญ่ไม่มีหลักฐานอะไรที่จะสามารถบอกได้ว่ารายได้ต่อละเดือนมาได้อย่างไร ตัวเลขที่กรอกมาก็เป็นการคาดการณ์เอาเองเท่านั้น ดังนั้นการตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ เลยมีความสำคัญที่จะนำมาใช้เพื่อเป็นการยืนยันอีกที และนี่คือบทบาทของการใช้ข้อมูลในแบบบิ๊กดาต้านั่นเอง

ข้อมูลในแบบบิ๊กดาต้า คือ ข้อมูล ที่นอกจากจะมีขนาดมโหฬารแล้ว ยังมีความเป็นปัจจุบันสูงอาจถึงระดับนาที แต่ที่สำคัญคือรูปแบบของข้อมูลมีความหลากหลายมาก การนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการวิเคราะห์เลยต้องการเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง การจัดเก็บข้อมูลที่สะดวกต่อการบริหารจัดการข้อมูลใหญ่ และมีทีมงานวิเคราะห์เจาะลึกที่ต่างจากนักวิเคราะห์โดยทั่วไป หรือที่เรียกว่านักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หรือ Data Scientist

การตรวจสอบข้อมูลคนจนโดยใช้บิ๊กดาต้าเลยต้องมองหากลุ่มข้อมูลที่นอกเหนือจากการใช้จ่ายโดยตรง อาทิ ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงการถือครองทรัพย์สินที่อยู่ในรูปแบบอื่นๆ เช่น ที่ดินทำกิน ยานพาหนะ เป็นต้น โดยหลักการแล้ว การนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ประกอบเพื่อที่จะพิจารณาตัดกลุ่มคนที่มีความเป็นไปได้สูงว่าน่าจะไม่ใช่ผู้มีรายได้น้อยแน่ๆ และไม่ควรได้สิทธิ์นี้จากภาครัฐ จะได้เหลือเฉพาะคนที่ควรได้จริงๆ แล้วจึงดำเนินการตรวจสอบในรายละเอียดต่อไป

แน่นอนการรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่นำมาใช้ ต้องมีแนวทางและวิธีการที่รัดกุม และตรวจสอบได้ แม้ว่ากฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลยังไม่ได้ประกาศใช้ แต่ภาครัฐยังมีกฎระเบียบอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ดูแลตรงนี้ได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ

นี่คือหลักการใหญ่ของการไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล นั่นคือการที่เป็นรัฐบาลที่ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าการออกนโยบาย และการดำเนินการต่างๆ โดยทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของการบูรณาการและเชื่อมโยงฐานข้อมูลนั่นเอง

———————————–
ตีพิมพ์ลงใน หนังสือพิมพ์ Posttoday ฉบับวันที่ 8 มิถุนายน 2560
คอลัมน์ e-Government หมวดเศรษฐกิจดิจิทัล หน้า C7

ป้ายกำกับ : บิ๊กดาต้า Bigdata