URL เว็บไซต์ แบบไหนที่ปลอดภัย


6 January 2559
14764

     คนส่วนใหญ่มักพิมพ์ค้นหาข้อมูลใน Google เมื่อเห็นเว็บไซต์ที่ต้องการก็จะคลิกลิงค์เข้าไปทันที จนอาจลืมสังเกตแถบเบราว์เซอร์ เพื่อดูว่าเป็น URL ของเว็บไซต์นั้นจริงๆ หรือเปล่า ยิ่งสมัยนี้มีการโจมตีแบบ Phishing ที่เป็นการปลอมแปลงเว็บไซต์หรืออีเมล โดยเฉพาะเว็บไซต์ของธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ ที่มักจะมีจดหมายส่งมาแจ้งเตือนกันอยู่บ่อยๆ ทางที่ดีก่อนกรอก User Name และ Password ควรสังเกต URL ทุกครั้งเพื่อป้องกันการถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวจากมิจฉาชีพ ที่บางรายถึงกับลงทุนซื้อโฆษณาของ Google Adword เลยทีเดียว ดังมีตัวอย่างให้เห็นจากการแจ้งเบาะแสต่างๆ เช่นจากผู้ใช้ตามลิงค์นี้ http://pantip.com/topic/34138748

     ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดหากต้องการเข้าไปทำธุรกรรมด้านการเงินควรพิมพ์ URL เว็บไซต์เอง หรือ ใช้วิธีสังเกตเบื้องต้นจาก URL ว่าเป็น เอชทีทีพี (HTTP: HyperText Transfer Protocol) หรือ เอชทีทีพีเอส (HTTPS: Hypertext Transfer Protocol Secure) ซึ่งมีความแตกต่างกันคือ เอชทีทีพีเอส จะมีการเข้ารหัสข้อมูลที่สื่อสารบนโพรโทคอลระหว่างเครื่องเซิร์ฟเวอร์และไคลเอ็นต์ เช่น การใส่ชื่อและรหัสผู้ใช้งาน จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และข้อมูลอื่นๆ บนอินเทอร์เน็ต โดยมี SSL (Secure Socket Layer) หรือ TLS (Transport Layer Security) ทำงานร่วมกับเครื่องเซิร์ฟเวอร์และไคลเอ็นต์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครสามารถอ่านข้อมูล (Sniffer) ที่ส่งผ่านบนอินเทอร์เน็ตไปใช้งานได้นั่นเอง ซึ่งสามารถสังเกตได้ตรง URL จะแสดงไอคอนรูปกุญแจล็อคสีเทาให้เห็น หรือหากเป็นแบบที่ใช้ EV (Extended Validation) ที่เป็นการเข้ารหัสแบบซับซ้อนกว่าปกติก็จะเป็นรูปกุญแจสีเขียว เป็นต้น

     มาถึงตรงนี้คงมีคำถามเกิดขึ้นมาว่า แล้วทำไมบางเว็บไซต์ยังใช้ URL เป็น เอชทีทีพีอยู่ ก็เพราะต้องการความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้นั่นเอง ต่างจากเว็บไซต์ที่ต้องการความปลอดภัยและการปกป้องข้อมูลสูง แม้จะช้าหน่อยแต่ก็ชัวร์กว่า เพราะผู้ใช้รู้สึกสบายใจที่จะกรอกข้อมูลการชำระเงินและข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ มากกว่า 

     ในปัจจุบันทาง Google Search Gmail และ Google  Drive เอง ก็มีการเชื่อมต่อกับการรักษาความปลอดภัยของ Google โดยอัตโนมัติ และที่สำคัญ Google ก็ได้ประกาศแล้วว่าจะนำเอชทีทีพีเอสมาใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการจัดอันดับเว็บไซต์ ดังนั้นเจ้าของเว็บไซต์ต่างๆ ต้องเลือกแล้วว่า ‘ความปลอดภัยกับความเร็ว’ อย่างไหนสำคัญกว่ากัน

ป้ายกำกับ : URL เว็บไซต์