สื่อออนไลน์ ประโยชน์เยอะ ภัยร้ายแยะ


15 July 2558
134735

สื่อออนไลน์
ประโยชน์เยอะ ภัยร้ายแยะ


 

หากมองย้อนกลับไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงคำว่า “เครือข่ายสังคมที่เต็มไปด้วยกลุ่มวัยรุ่นที่ทำกิจกรรมติดต่อสื่อสาร พูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านความบันเทิง หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่เน้นไปที่การกระจายตัว “ความเป็นเมือง” ไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านการคมนาคมขนส่ง การค้าและบริการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการสื่อสารที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เราสามารถเข้าถึงบริการด้านข้อมูลข่าวสาร และการติดต่อสื่อสารในยุคการเชื่อมต่อไร้สายผ่านทางเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น

ทั้งนี้ จากการประชุมวิชาการระดับชาติสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ครั้งที่ 11 เรื่อง “ความหลากหลายทางประชากรและสังคมในประเทศไทย ณ ปี 2558” โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2554 – 2557 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ากลุ่มที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มวัยรุ่น แต่มีการขยายตัวไปยังกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้นด้วย

ใครเป็นใครบนเครือข่ายสังคมออนไลน์

ผลการวิจัยเรื่อง “ใครเป็นใครบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ : ความหลากหลายทางคุณลักษณะและพฤติธรรม” ของ ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า กลุ่มประชากรที่ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มเยาวชน (อายุ 15 – 24 ปี) แต่มีการขยายตัวของจำนวนผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ไปกลุ่มอื่นๆ อีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ

ดร.ปิยวัฒน์ กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมากลุ่มที่มาแรงที่สุด คือกลุ่มผู้สูงอายุ มีการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 95 ในการเข้าไปเป็นสมาชิกของสังคมออนไลน์ นอกจากนี้ยังพบว่า การเพิ่มขึ้นของความถี่ในการเข้าไปใช้งานและระยะเวลาการใช้งานต่อช่วงวันเพิ่มขึ้นด้วย จากเดิมวันละ 1 ชั่วโมง เพิ่มเป็นสูงสุดวันละ 7 ชั่วโมง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เอนซีดี (NCDs) ที่เกิดจากการอยู่นิ่งๆ นานๆ

ขณะที่วัตถุประสงค์การใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการใช้เพื่อความบันเทิง ติดตามข้อมูลข่าวสาร และการสนทนา

ภัยร้ายออนไลน์ในวัยรุ่นไทย

“เครือข่ายสังคมออนไลน์” กลายเป็นสังคมที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น และมีความหลากหลายทั้งในแง่คุณลักษณะทางเพศและอายุ ตลอดจนวัตถุประสงค์การใช้งาน ที่นับวันภาพของ “สังคมออนไลน์” ก็จะยิ่งสะท้อนภาพของคนใน “สังคมไทย” เข้าไปทุกที

ขณะเดียวกัน ผลวิจัยเรื่อง “วัยรุ่นใช้สื่อออนไลน์อย่างไรในการหาคู่” ของ นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบความน่าเป็นห่วง คือกลุ่มวัยรุ่นใช้สื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ไลน์ ในการหา “กิ๊ก” และคู่นอน โดยพฤติกรรมการมีแฟนและเพศสัมพันธ์แบ่งเป็นกลุ่ม 4 กลุ่ม คือ (1) มีแฟนทีละคนไม่มีกิ๊ก หรือกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้สื่อออนไลน์ในการพูดคุยกับเพื่อนทั่วไปเท่านั้น (2) มีแฟนและกิ๊กแต่จะมีเพศสัมพันธ์กับแฟนคนเดียว คือกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้สื่อออนไลน์เป็นช่องทางในการคุยกับกิ๊ก แต่ไม่คุยเพื่อจะมีเพศสัมพันธ์ด้วย และไม่ใช้สื่อออนไลน์ในการหาคู่ (3) มีแฟนและกิ๊ก และมีเพศสัมพันธ์กับทุกคน และ (4) มีเพศสัมพันธ์กับใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องแฟนหรือกิ๊ก สองกลุ่มหลังนี้คือ กลุ่มที่ใช้สื่ออนไลน์ในการติดต่อกัน เพื่อนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ โดยวัยรุ่นชายจะใช้สื่อออนไลน์ในการหาคู่ชัดเจรกว่าวัยรุ่นหญิง อีกทั้งใช้เวลาพูดคุยทำความรู้จักไม่นานก่อนการมีเพศสัมพันธ์

เจ้าของงานวิจัยเรื่อง “วัยรุ่นใช้สื่อออนไลน์อย่างไรในการหาคู่” ให้ความเห็นว่า โดยปกติแล้ว ผู้ชายส่วนใหญ่จะสามารถหาคู่ได้ง่ายกว่าผู้หญิง ผู้ชายสามารถมีเซ็กส์กับแฟนตัวเอง เพื่อนคนรู้จัก รวมทั้งพนักงานบริการ ขณะเดียวกัน ผู้หญิงสามารถมีเซ็กส์ได้กับแฟนตัวเอง สามี ส่วนคนรู้จักอาจถูกบังคับหรือไม่เต็มใจ ทั้งนี้ ผู้ชายจะมีความตั้งใจในการมีเซ็กส์มากกว่าผู้หญิง

ความขัดแย้งบนโลกออนไลน์ สู่โลกความเป็นจริง

จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาอย่างก้าวล้ำ สื่อสังคมออนไลน์กลับส่งผลไปในการลบต่อชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์ของคนในสังคมอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น จนกลายเป็นประเด็นทางสังคม ที่ทั้งสื่อ กฎหมายและประชาชนเองจะต้องให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะกับกลุ่มวัยรุ่นที่ใช้เวลาไปกับสื่อออนไลน์วันละ หลายชั่วโมง จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง ทะเลาะวิวาท จนถึงขั้นทำร้ายร่างกายตามมา

จากผลการวิจัยหัวข้อ “เหวี่ยง’ และ ‘วีน’ ออนไลน์… ความขัดแย้งและการวิวาทในสื่อสังคมของวัยรุ่น” ของผศ.ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ความขัดแย้งในกลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่เป็นประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อนและคนรัก การแข่งขันในการเรียน และสถานภาพทางสังคม

“การที่ไม่มีตัวตน หรือมีตัวตนซ่อนเร้นในโลกออนไลน์ ทำให้คนมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นหรือแสดง ‘ความแรง’ ออกมาในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะในสังคมวัยรุ่นสมัยนี้ที่มีการสื่อสารห้วนขึ้น สั้นขึ้น แรงขึ้น หรือวัฒนธรรมแบบสามคำสี่พยางค์ อย่างเวลาที่เราพูดห้วนๆ จะมีความแรงอยู่ด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การวิวาทง่ายขึ้น” ผศ.ดร. ภูเบศร์ กล่าวและว่า การทะเลาะวิวาท ในสังคมออนไลน์มีหลายกรณี เช่น “ทะเลาะในเฟซบุ๊กแล้วไปต่อในไลน์ หรือ ทะเลาะในไลน์แล้วไปต่อในต่อในเฟซบุ๊ก แล้วออกมาเคลียร์กันตัวต่อตัว” จากความรุนแรงทางความสัมพันธ์ในการสื่อสาร กลายเป็นความรุนแรงทางกายภาพ

ด้านนายแพทย์อภิชาต จริยาวิลาศ จิตแพทย์โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ให้คำแนะนำว่า เพื่อป้องกันปัญหาที่ตามมา ควรระวังบุคคลที่จะสื่อสารด้วย เพราะอาจมีอาชญากรรมแฟงตัว และไม่ควรหมกมุ่นในการสื่อมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราสามารถทำได้ในการป้องกันภัยที่มาจากสื่อสังคมออนไลน์ ก็คือการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) โดยต้องเข้าใจสภาพของสื่อออนไลน์ว่าเป็นสังคมที่มีทั้งพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ เรียนรู้การสื่อสารและการมีปฏิสัมพันธ์บนโลกออนไลน์กับชีวิตจริงว่า ความรอบคอบและมีสติทุกครั้งในการสื่อสารและแสดงความคิดเห็นต่างๆ บนโลกออนไลน์ คือวิธีป้องกันภัยร้ายได้อย่างดี

            ขอขอบคุณข้อมูลจากสกูปข่าว ดาบ 2 คม สื่อสังคมออนไลน์ ทาวนิวทีวี ช่อง 18

ที่มา นิวส์ 108 ฉบับที่ 241 วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เอกสารแนบ

1

img_86900c303597fbcf39a0b0f21139ad1d

179 ครั้ง