ผ่านแล้ว ร่าง พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. …. กลไกสำคัญการปฏิรูประบบงานภาครัฐ เดินหน้ารัฐบาลดิจิทัล


8 March 2562
18233

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. ….” และลงมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ซึ่งลำดับต่อไปเป็นขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป

ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาระบบการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลนั้นเกิดผลสำเร็จในหลายประเทศ เช่น ประเทศเอสโตเนีย เกาหลีใต้ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ประเทศไทยก็ได้มีการริเริ่มจัดทำ ร่าง พระราชบัญญัติว่าด้วยรัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. …. โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้ร่วมกันผลักดันต่อจาก สปท. ซึ่งในชั้นการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ปรับแก้ไขชื่อร่างพระราชบัญญัติใหม่เป็น “ร่างพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. ….” โดยมีสาระสำคัญคือ

1. กำหนดให้มีการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเพื่อกำหนดกรอบและทิศทางการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

2. กำหนดให้มีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) เพื่อเป็นกรอบในการกำหนดสิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบในการบริหารจัดการข้อมูลของหน่วยงานของรัฐ

3. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลและบริการในรูปแบบดิจิทัล (Digitization) เพื่ออำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน

4. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน (Integration)

5. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบดิจิทัล (Open Government Data) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก และสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์สำหรับต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ได้

“เมื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายแล้วจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ จัดทำมาตรฐานและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบดิจิทัล กำหนดแนวทางการพัฒนาศักยภาพบุคลากรภาครัฐ จัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ และจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางเพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงบริการดิจิทัลของหน่วยงานของรัฐให้เกิดบริการสาธารณะแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เป็นต้น

โดยมีสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. ทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และสนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายนี้ จากการดำเนินงานตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พบปัญหาในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลภาครัฐมาใช้ในการให้บริการประชาชน คือแต่ละหน่วยงานต่างมีกฎหมาย และกฎระเบียบของตนเอง เช่น กระบวนงานต่างๆ มีระเบียบว่าเมื่อประชาชนมาใช้บริการจะต้องมีสำเนาเอกสารมาด้วยเพื่อยืนยันตัวตน ซึ่งในมาตรา 14 ของร่าง พ.ร.บ. นี้ จะช่วยให้กระบวนงานหน่วยงานของรัฐมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำหนดให้มีศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลและทะเบียนดิจิทัล เพื่อให้หน่วยงานของรัฐไม่ต้องร้องขอสำเนาเอกสารจากประชาชน สามารถร้องขอข้อมูลจากหน่วยงานเจ้าของข้อมูลได้ผ่านศูนย์ฯ นอกจากช่วยลดกระบวนงาน ลดการใช้กระดาษแล้ว ก็ช่วยลดเวลา ลดภาระค่าใช้จ่าย และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนด้วย

นอกจากนี้ จะมีการเชื่อมโยงบริการดิจิทัลของหน่วยงานของรัฐให้เกิดบริการสาธารณะแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ได้ ตัวอย่างเช่น การเปิดร้านอาหารมีประมาณ 10 หน่วยงานที่ต้องให้ใบอนุญาตในการเปิดร้านอาหาร หน่วยงานต่างๆ เหล่านี้จะถูกเขียนไว้ในแผนว่าจะต้องมาทำงานร่วมกัน ต้องลดแบบฟอร์มลงให้เหลือฟอร์มเดียวเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น การทำงานรัฐบาลดิจิทัลจะไม่ต่างคนต่างทำอีกแล้ว เพราะกฎหมายบังคับใช้ให้ทุกคนต้องทำงานร่วมกัน

สำหรับสาระสำคัญในมาตราอื่นๆ เช่น ในมาตรา 16 ให้หน่วยงานของรัฐเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการในรูปแบบดิจิทัลต่อสาธารณะ ผ่านศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ โดยประชาชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อต่อยอดธุรกิจเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ในมาตรา 10 กำหนดให้ หน่วยงานของรัฐทุกแห่งต้องเปลี่ยนแปลงข้อมูลในการทำงานและกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล และต้องจัดให้มีช่องทางการชำระเงินดิจิทัลและระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล แบบครบวงจร ทั้ง Digitization, Digital Process, Digital Payment และ Digital ID และต้องทำ Security และ Capacity Building ด้วย โดยทั้งหมดจะถูกกำหนดไว้ในแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ว่าหน่วยงานไหนสามารถเริ่มดำเนินการได้ก่อนหรือหลังตามลำดับ เพราะเรามีทรัพยากรจำกัดนั่นเอง

จะเห็นได้ว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นเรื่องของข้อมูลทั้งสิ้น ดังนั้น จึงต้องมีธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) เป็นกรอบการกำกับดูแลข้อมูล ในกฎหมายนี้ โดยมีกรอบการกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance Framework) เพื่อกำหนดสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการข้อมูล เพื่อให้การได้มาและการนำไปใช้ข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน มั่นคงปลอดภัย รักษาความเป็นส่วนบุคคล และสามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงปลอดภัยได้จริง