เมื่อข้อมูลส่วนบุคคลจะกลายเป็นข้อมูลที่มีค่ามากที่สุด


24 May 2560
1530

เมื่อข้อมูลส่วนบุคคลจะกลายเป็นข้อมูลที่มีค่ามากที่สุด 
โดยดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

 

ปีที่แล้วมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐจากหน่วยงานต่างๆ เข้าไปตรวจสอบข้อมูลประชาชนที่ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์กว่า 100 ล้านครั้ง แน่นอนในเรื่องความมั่นคงและการรักษาความสงบสุขของสังคมก็เข้าใจได้ว่าจำเป็นต้องดำเนินการ แต่เราควรจะใช้ประโยชน์ของฐานข้อมูลส่วนบุคคลเหล่านี้ในจุดประสงค์อื่นๆ ที่สามารถนำไปใช้ในการวางแผนนโยบายที่เหมาะสม จนไปถึงการให้บริการเชิงรุกจากภาครัฐมากขึ้น แต่ต้องมีกลไกในการรักษาความมั่งคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่รัดกุมด้วย

จากบทวิเคราะห์ของการ์ทเนอร์ (Gartner, Inc. บริษัทวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลด้านไอทีระดับโลก) ได้บอกว่า ข้อมูลที่มีค่าที่สุด ไม่ใช่ข้อมูลเปิดจากภาครัฐ หรือข้อมูลสาธารณะต่างๆ กลับกลายว่า ในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลถูกสร้างขึ้นใหม่ทุกๆ นาที ข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ ของประชาชนเป็นข้อมูลที่มีมูลค่าสูงสุดไปแล้ว 

ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมบริษัทไอทียักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก ไลน์ หรืออาลีบาบา ต่างมุ่งไปที่การเก็บข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ของผู้ใช้งานในทุกมิติ จากการออกบริการใหม่ๆ ที่อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ ที่น่าสังเกตคือ ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่รูปแบบฐานข้อมูลแบบทั่วไปแล้ว แต่เป็นข้อมูลที่มีปริมาณมาก มีความหลากหลายสูง และมีความเป็นปัจจุบันในระดับนาที ทำให้ต้องใช้เทคโนโลยีอย่างบิ๊กเดต้า (Big Data) เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์เพื่อให้ได้สารสนเทศที่สามารถนำไปใช้ต่อได้อย่างสะดวกและทันกาล

ประเทศสิงคโปร์พึ่งประกาศระบบ Myinfo (https://www.singpass.gov.sg/myinfo/intro) เป็นเว็บไซต์ที่ให้ประชาชนบริหารจัดการข้อมูลของตัวเองได้ โดยข้อมูลที่มาจากภาครัฐก็จะเป็นข้อมูลพื้นฐานของแต่ละคน อาทิเช่น ชื่อ ที่อยู่ วุฒิการศึกษา การเสียภาษี ไปจนถึงทะเบียนรถยนต์ เป็นต้น ส่วนข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ ประชาชนก็สามารถนำเข้าและจัดการได้เองเลย ประโยชน์ที่ได้คือเมื่อประชาชนคนไหนจำเป็นต้องให้ข้อมูลส่วนตัวในเรื่องอะไรก็ตาม ก็สามารถอนุญาตได้ด้วยตัวเองผ่านทางระบบดิจิทัลได้เลย ไม่ต้องมากรอกแบบฟอร์มบนกระดาษอีกแล้ว 

ประเทศไทยเรามีบัตรประชาชนสมาร์ตคาร์ดที่มีข้อมูลเลข 13 หลักเชื่อมต่อฐานข้อมูลต่างๆ อยู่แล้ว การจะต่อยอดไปสู่การให้ประชาชนเป็นคนบริหารจัดการข้อมูลส่วนตัวด้วยตนเองเลยไม่ใช่เรื่องยาก จากการนำร่องตู้คีออสก์ภาครัฐ หรือ ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ (Government Smart Kiosk) ใครสนใจสามารถไปใช้บริการได้ตามห้างสรรพสินค้าและจุดบริการกว่า 13 แห่ง ซึ่งจะขยายให้ครบทุกจังหวัดภายในปีนี้ ก็จะได้เข้าใจว่าทำไมถึงบอกว่าข้อมูลส่วนบุคคลมีค่ามากขนาดไหน

———————————–
ตีพิมพ์ลงใน หนังสือพิมพ์ Posttoday ฉบับวันที่ 25 พฤษภาคม 2560
คอลัมน์ e-Government หมวดเศรษฐกิจดิจิทัล หน้า C7