
โครงการ Tech for Gov: NextGen GovAI Training Program บ่มเพาะความคิด สร้างคน ปลดล็อกศักยภาพรัฐไทยด้วย AI
โครงการ Tech for Gov: NextGen GovAI Training Program บ่มเพาะความคิด สร้างคน ปลดล็อกศักยภาพรัฐไทยด้วย AI

๑. หลักการและเหตุผล
ด้วยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ร่วมกับ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จํากัด ได้มีการจัดกิจกรรมการแข่งขัน “Tech for Gov: NextGen GovAI Training Program – บ่มเพาะความคิด สร้างคน ปลดล็อกศักยภาพรัฐไทยด้วย AI” เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลภายใต้แนวคิดไปสู่ “AI Economy” โดยปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนดังกล่าวคือการรวบรวมความคิดสร้างสรรค์จากเจ้าหน้าที่ภาครัฐในหลายภาคส่วนเพื่อกำหนดปัญหาและนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายคือ ให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ฝึกทักษะด้าน AI ในการตั้งโจทย์และ นำความรู้ด้าน AI มาสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับอบรมความรู้พื้นฐาน และการสนับสนุนจากทีมงานที่ปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงทีมงานที่จะช่วยทำให้แนวความคิดเกิดขึ้นจริงได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางเทคโนโลยีมาก่อน เพียงแค่มีความสนใจและความคิดสร้างสรรค์ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้้้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
๒. วัตถุประสงค์ของโครงการ
๒.๑ เพื่อส่งเสริมการสร้างทักษะ AI ให้กับบุคลากรภาครัฐ
๒.๒ เพื่อผลักดันความคิดสร้างสรรค์ในการนำ AI มาประยุกต์กับงานภาครัฐได้จริง
๒.๓ เพื่อขับเคลื่อน AI ในบริการรัฐสู่การให้บริการประชาชนที่ทันสมัย
๓. ระยะเวลาโครงการ
๓.๑ การรับสมัคร ๑ ถึง ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๘
๓.๒ การเข้าร่วมกิจกรรม ระหว่างเดือนพฤษภาคม – เดือนมิถุนายน ๒๕๖๘ โดยมีการแบ่งออกเป็น ๒ ระยะ
• ระยะที่ ๑ ปั้นอัศวิน (Exclusive Training): การอบรม AI เป็นระยะเวลา ๓ วันสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่าน ตั้งแต่วันที่ ๒๗ – ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๘
• ระยะที่ ๒ สร้างอัศวิน (Ideation, Technology Prototype & Pitching): การอบรมเชิงปฎิบัติการ (Workshop) AI เป็นระยะเวลา ๑ วันสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนสนใจเข้าร่วมการสร้างผลงาน AI จะเข้าร่วมการอบรมวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๘ เพื่อส่งผลงานเข้าประกวด และเข้าสู่กระบวนการแข่งขันผลงาน AI ตั้งแต่วันที่ ๔ – ๓๐ มิถุนายน 2568
หลังจาก Workshop เสร็จสิ้น ผู้เข้าแข่งขันจะส่งผลงานเข้าประกวดในรูปแบบไฟล์ PDF หรือ Powerpoint ไม่เกิน ๕ หน้ารวมปก คัดเหลือ ๑๒ ทีม เข้าสู่รอบการสร้างผลงาน จะมีผู้เชี่ยวชาญจากไมโครซอฟท์และผู้สนับสนุนมาช่วยพัฒนาผลงานจากโจทย์ที่เข้ารอบสู่การสร้าง AI technology โดยผู้เข้ารอบจะได้ร่วมสร้างผลงาน กับผู้เชี่ยวชาญในการสร้างผลงาน ทดสอบ และ นำเสนอ Pitching สุดท้าย ในระยะนี้ ผู้เข้าแข่งขัน จะได้รับการสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญในการสร้างผลงาน และจะคัดเลือกผู้ชนะเลิศ ๓ ทีมสุดท้าย (หมวดละ ๑ ทีม)
๔. หัวข้อของโครงการการฝึกอบรมและการสร้าง AI ไปใช้จริง
๔.๑ การอบรม
• ระยะที่ ๑ สำหรับผู้เข้าร่วมทุกท่าน
– พื้นฐานของข้อมูลและ AI ประกอบด้วย Introduction to Data and Data Analytic Tool, Introduction to AI and Generative AI, Security for AI, Responsible AI
– สร้าง AI ด้วยตัวเอง ประกอบด้วย Design Thinking Concept, Discover AI Use Cases, Government Use Cases in AI, Build Agentic AI
– การพัฒนาแอปพลิเคชัน AI ประกอบด้วย Narrow AI, AI and Web Development, Develop Web App for AI tools Workshop, Agentic AI
• ระยะที่ ๒ สำหรับผู้เข้าร่วมการแข่งขัน
– AI Ideation Workshop สอนกระบวนการคิดเชิงออกแบบโจทย์ AI เพื่อแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์และมุ่งสู่ผลลัพธ์วัดผลได้ โดยเน้นการคำนึงถึงโอกาส และ ความท้าทายที่ AI จะสามารถเข้าไปสนับสนุน หรือ ปรับเปลี่ยน การทำงานปัจจุบัน เข้าใจผู้ใช้งาน และสามารถทดลองไอเดียได้
๔.๒ การแข่งขันนำไอเดียมาสร้างสรรค์ผลงาน โจทย์การแข่งขันจะแบ่งออกเป็น ๓ หมวด (3E) ดังนี้
• หมวดที่ ๑ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล (Efficiency): การใช้ AI สำรวจว่า AI สามารถเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานของรัฐบาลในการ การลดขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน เพิ่มความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการทำงาน
• หมวดที่ ๒ สร้างประสบการณ์ของประชาชน (Experience): การนำ AI ไปปรับปรุงประสบการณ์ของประชาชนในการติดต่อกับบริการของภาครัฐในมิติต่าง ๆ เช่น การทำให้บริการเข้าถึงง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้นและไร้รอยต่อเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับประชาชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
• หมวดที่ ๓ เสริมสร้างประเทศให้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น (Empowerment): การใช้ AI เพื่อเสริมสร้างและขับเคลื่อนประเทศโดยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้าน การพัฒนาเศรษฐกิจ และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ในระดับประเทศ
๕. คุณสมบัติผู้สมัคร
๕.๑ บุคลากรภาครัฐที่สนใจเรียนรู้และมีความสนใจในการพัฒนาโจทย์จริงในด้าน AI เพื่อการนำไปใช้ในงานด้านการวางแผน การขับเคลื่อน หรือการพัฒนาด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในหน่วยงานของรัฐ
๕.๒ ไม่จำเป็นต้องมีทักษะ AI หรือการเขียนโปรแกรมมาก่อน (โครงการมีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา)
๕.๓ ผู้สมัครสามารถเลือกการเข้าร่วมเฉพาะระยะที่ ๑ หรือทั้ง ๒ ระยะ ก็ได้
• ระยะที่ ๑ เข้าร่วมเฉพาะการอบรมเป็นรายบุคคล
• ระยะที่ ๒ เข้าร่วมการเสนอความคิดสร้างสรรค์เป็นทีม โดยมีสมาชิกทีมละ ๓ – ๕ คน สังกัดคนละหน่วยงาน หรือ กรม/กองได้ ไม่จำกัดจำนวนทีม และแข่งขันพัฒนาต้นแบบ (technology prototype) สำหรับทีมที่ได้รับคัดเลือก
๕.๔ ผู้สมัครต้องยินยอมให้ผู้จัดใช้ภาพหรือข้อมูลจากการสัมภาษณ์เพื่อประกอบในการประชาสัมพันธ์
๕.๕ ยินยอมให้นำแนวคิดไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาบริการภาครัฐต่อไป
๖. สิ่งที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับ
๖.๑ รอบปั้นอัศวิน (Exclusive Training & Ideation)
• ใบประกาศนียบัตรการฝึกอบรมจาก บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จํากัด สำหรับผู้ผ่านการอบรม
๖.๒ รอบสร้างอัศวิน – จากโจทย์สู่การสร้างผลงาน AI (Technology Prototype & Pitching)
• โล่สำหรับผู้ชนะของโครงการ ๑ ทีม โดย DGA และ Microsoft
• โล่สำหรับผู้ชนะตามหมวดหมู่ ๓ ทีม (๑ ทีม ต่อ ๑ หมวด) โดย DGA และ Microsoft
• ทีมผู้ชนะเลิศจะได้รับรางวัลจาก บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จํากัด เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาด้วยเทคโนโลยี AI และ สิทธิในการเข้าร่วมกิจกรรมด้าน AI ที่จัดโดยภาครัฐในอนาคต ทั้งนี้โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ของโครงการ
๗. QR Code สำหรับรายละเอียดโครงการ
หมายเหตุ : รายละเอียดอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม