พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร


16 March 2558
1852

เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๖ ณ ห้องแกรนด์ บอลลูม โรงแรมรามาการ์เด้น ถนนวิภาวดีรังสิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) จัดงานแถลงข่าว “พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการสนับ สนุน นโยบาย Smart Farmer/Smart Officer :หนึ่งบัตรประชาชนเพื่อเกษตรกรปราดเปรื่อง : One ID Card for Smart Farmer)”โดยมี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์  นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายชวลิต ชูขจรปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็นผู้ร่วมลงนามและแถลงข่าว

การแถลงข่าวและลงนาม MOU ครั้งนี้จะกล่าวถึง นโยบายการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหาร ยกระดับคุณภาพเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยถือเป็นการลงนามที่มีผลทางด้านระบบไอทีภาครัฐครั้งใหญ่ที่สุด และส่งผลให้ระบบ Government Cloud Computing สามารถเข้าไปรองรับกลุ่มเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ไทยได้

นอกจากนี้ สรอ. โดยสำนักพัฒนาระบบสารสนเทศ ดร.อาศิส อัญญะโพธิ์ และทีม ได้นำระบบสาธิตผลงานโครงการ Citizen Smart Info คือ บริการ Smart Card – Smart Life ระบบลงทะเบียนใช้บริการผ่านบัตรประชาชนอเนกประสงค์ (Smart Card) ระบบตรวจสอบข้อมูลการเพาะปลูกเกษตรกร ไปแสดงในงานฯ โดยมีนายกรัฐมนตรีมาเยี่ยมชมอีกด้วย

ชมภาพบรรยากาศเพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/media/set/?set=a.499664806738541.104864.100000850770441&type=1

———————————————————————————————————————————
รายละเอียดโครงการ “หนึ่งบัตรประชาชนเพื่อเกษตรกรปราดเปรื่อง : One ID Card for Smart Farmer”
 

แจ้งเกิดระบบเกษตรกรอัจฉริยะ รวม 4 หน่วยภาครัฐ มหาดไทย เกษตรและสหกรณ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงไอซีที ระดมข้อมูลเกษตรทั้งระบบ พร้อมสั่งสรอ. เตรียมระบบ G-Cloud รองรับ คาดครึ่งปีแรกรู้ผล พร้อมต่อยอดสู่ระบบบัตรประชาชน เกษตรกรต่อตรงดึงข้อมูลได้ทันที

 

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า Smart Farmer ถือเป็นความร่วมมือของทั้งสี่กระทรวงสำคัญของประเทศกับหนึ่งหน่วยงานที่จะทำ งานร่วมกัน ที่สำคัญคือ เห็นการบูรณการการทำงาน เพื่อที่จะพัฒนาและยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าและราคาสินค้าเกษตร และอาหาร รวมทั้งให้สามารถเกิดการจัดพื้นที่การผลิตด้านการเกษตรกรรมและป่าไม้ที่ถูก ต้องและเหมาะสม ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ภายใต้นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งหมายให้เกษตรกรไทยเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer โดยมี Smart Officer เป็นเพื่อนคู่คิด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และของทุกกระทรวงที่ร่วมมือกันในครั้งนี้

 

โครงการนี้เป็นการสนับสนุนนโยบายเร่งด่วนและสำคัญของรัฐบาล คือ นโยบายการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การยกระดับราคาสินค้าเกษตร นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก นโยบายโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงเครือข่ายสื่อสารข้อมูลภาครัฐ (Government Information Network:GIN) รวมทั้งสนับสนุนต่อยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี ๒๕๕๘ หรือ AEC 2015 อันได้แก่ การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้าบริการ การค้าและการลงทุน พัฒนาคุณภาพชีวิต และการคุ้มครองทางสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ เป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ

 

สำหรับประเทศไทยการเกษตรถือเป็นอาชีพหลักของคนไทย เนื่องจากมีประชาชนที่เป็นเกษตรกรในปัจจุบันถึง 12 ล้านคนเศษ 7 ล้านกว่าครัวเรือน โดยในอีก 3 ปีข้างหน้า ไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประเทศไทยจะเตรียมพร้อมอย่างไรในด้านของการเกษตร เพื่อให้รองรับกับการเปิดประชาคมอาเซียน ให้มีการพัฒนาและสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตได้ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะสามารถทำให้บรรลุสิ่งที่คาดหวังไว้ คือการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารยกระดับคุณภาพเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้น รัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทในการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ทุกกระทรวงภายใต้รัฐบาลนี้ เพื่อส่งเสริมระบบเกษตรกรรมให้มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น

 

การบูรณาการครั้งนี้ถือว่าทั้งสี่กระทรวง กับหนึ่งหน่วยงานได้นำเอานโยบายของรัฐบาลที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และยกระดับราคาสินค้าเกษตรมาเป็นแนวทางการทำงานร่วมกัน และถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่น่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะเห็นว่าได้มีการเริ่มขึ้นจากการทำความร่วมมือการสำมะโนเกษตร พ.ศ.2556ที่จะทำข้อมูลเกษตรเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัย มีประโยชน์ต่อการดำเนินงาน เป็นฐานข้อมูลเกษตรกรที่มีเอกภาพ ถูกต้อง ทันสมัย แล้วจะนำไปจัดเก็บบนระบบเทคโนโลยีใหม่ คือ การจัดเก็บข้อมูลภาครัฐ หรือ g-Cloud Computing เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการใช้ข้อมูลและเกิดประโยชน์ร่วมกัน อันจะช่วยให้รัฐบาลลดการใช้จ่ายงบประมาณด้านการจัดหาเทคโนโลยีสารสนเทศที่ ซ้ำซ้อนลงได้ อีกทั้งจะร่วมส่งเสริมการพัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ ให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการผลผลิตของตนเอง และใช้บริการภาครัฐได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอีกด้วย

 

“เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer ที่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องทำการเกษตร มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ มีความตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยมี Smart officer เป็นเพื่อนคู่คิด เพื่อให้เกษตรกร มุ่งนำการผลิตด้านการเกษตรสู่ Green Economy และ Zero waste agriculture และเพื่อเป็นการพัฒนาประเทศ โครงการนี้เมื่อประสบความสำเร็จจะสร้างความพอใจ และสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรทุกท่าน และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป” นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวสรุป
 

นายโอฬาร พิทักษ์รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว ในนามของผู้จัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานรัฐบาลอิเลคทรอนิกส์ ขอกราบขอบพระคุณ ฯพณฯนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างสูงที่ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีลงนาม บันทึกความร่วมมือในวันนี้
 

สืบเนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายดำเนินงานเกี่ยว กับการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร “นโยบาย Smart Farmer/Smart Officer”และได้มอบให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้สนับสนุนการ ดำเนินงาน ด้านการส่งเสริม การพัฒนาและยกระดับด้านการผลิตและราคาสินค้าเกษตรและอาหารรวมทั้งคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่งปัจจุบันข้อมูลทะเบียนเกษตรกรยังมีความจำเป็นต้องปรับปรุงเพิ่มเติมให้ เพียงพอต่อการใช้งาน ประกอบกับจะมีการสำมะโน

 

การเกษตร พ.ศ.2556จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้ข้อมูลทะเบียนเกษตรกรมีข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อใช้งานอีกทั้งข้อมูลทะเบียนเกษตรกรที่ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมแล้วนั้นจะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกรได้เป็นอย่างดีโดยจะนำข้อมูลดังกล่าวจัดเก็บไว้บนบัตรประจำตัวประชาชนแบบเอนกประสงค์ (Smart Card) ให้เป็นบัตรเดียวที่มีข้อมูลครบถ้วน สำหรับใช้บริหารจัดการเพื่อเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 

ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ประสานความร่วมมือและบูรณาการร่วมกันในระหว่าง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานรัฐบาลอิเลคทรอนิกส์ เพื่อจัดทำบันทึกความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการสนับสนุนนโยบาย Smart Farmer/Smart Officer “หนึ่งบัตรประชาชนเพื่อเกษตรกรปราดเปรื่อง : One ID Card for Smart Farmer” ซึ่งได้รับความกรุณาจากท่านรัฐมนตรีทุกกระทรวงเป็นอย่างดียิ่ง และกำหนดร่วมกันที่จะดำเนินพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือขึ้นในวันนี้ ซึ่งวัตถุประสงค์จากการลงนามในบันทึกความร่วมมือ มีดังนี้

  1. เพื่อบูรณาการข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ร่วมกับข้อมูลทะเบียนราษฎร และจัดเก็บข้อมูลสำคัญ ของเกษตรกรลงในบัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ (Smart Card) สำหรับบริหารจัดการตามนโยบายของรัฐบาลและของทั้ง 4กระทรวง อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. เพื่อให้มีการบูรณาการการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การจัดเก็บทะเบียนเกษตรกร ร่วมกับการจัดทำสำมะโนการเกษตร สำหรับการบริการจัดการด้านเกษตรกร
  3. เพื่อสนับสนุนข้อมูล และให้บริการในการใช้ระบบเครือข่ายข้อมูลภาครัฐ (GovernmentInformation Network : GIN) และให้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อบริการภาครัฐ รวมทั้งระบบการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ (G – Cloud Computing)
  4. เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร ข้อมูลที่สำคัญ และสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ไปสู่เกษตรกรผ่านทางเทคโนโลยีการสื่อสาร อันได้แก่โทรทัศน์อินเตอร์เน็ต (IPTV) หรือระบบ เครือข่ายข้อมูลภาครัฐ (Government Information Network : GIN) ไปยังศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนทั่วประเทศ

 

สำหรับภารกิจที่หน่วยงานต่างๆจะมาร่วมดำเนินงานในครั้งนี้ ประกอบด้วย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจะดำเนินการจัดทำสำมะโนเกษตรพ.ศ.2556และมีกรมส่ง เสริมการเกษตรให้การสนับสนุนในการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งข้อมูลที่ได้จะนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกับฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และจะมีการนำไปตรวจสอบปรับปรุงฐานข้อมูลให้ถูกต้องกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หลังจากนั้นจะมีการร่วมกันพัฒนาระบบการให้บริการของภาครัฐในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการจัดเก็บไว้ในระบบการจัดเก็บขนาดใหญ่ (g-Cloud Computing) โดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) อีกทั้งจะมีการร่วมกันจัดทำเนื้อหาองค์ความรู้ด้านการเกษตร การทำธุรกิจเกษตร ข้อมูลที่สำคัญและสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อนำไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรผ่านทางโทรทัศน์อินเตอร์เน็ต (IPTV) ไปยังศูนย์บริการ ICT ชุมชนทั่วประเทศ

 

ด้านกระทรวงมหาดไทย โดยสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง จะร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร นำข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกรที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไป บูรณาการกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร และจะอำนวยความสะดวกและสนับสนุนให้มีการบันทึกข้อมูลเกษตรกรไว้ในบัตรสมาร์ท การ์ด (Smart card) เพื่อใช้ในการบริหารจัดการด้านการเกษตร และด้านอื่นๆ ตามนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย

 

ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะให้การสนับสนุน ข้อมูลและแผนที่ รวมทั้งรายละเอียดของพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมใช้ข้อมูล และแผนที่ในการจัดพื้นที่ด้านการผลิตการเกษตร สำหรับวางแผนและจัดการการผลิตด้านการเกษตรให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล และจะร่วมกันสนับสนุนข้อมูลและองค์ความรู้ รวมทั้งบุคลากรด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศให้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวไปยังเกษตรกรอีกด้วย

 

ทั้งนี้ ภายหลังการลงนามบันทึกความร่วมมือฯ เสร็จสิ้น ใคร่ขอกราบเรียนเชิญ ฯพณฯนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยรัฐมนตรีจากทั้ง 4กระทรวง ได้ชมการสาธิต “การบันทึกข้อมูลทะเบียนเกษตรกร และการใช้ประโยชน์จากบัตรประจำตัวประชาชนเอนกประสงค์ (Smart Card)” โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมอบบัตรสมาร์ทการ์ดที่ได้ปรับปรุงข้อมูลแล้วให้แก่เกษตรกรจากจังหวัด นครนายกจำนวน 10รายด้วย

บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว กระผมขออนุญาตเรียนเชิญท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ท่านปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารท่านปลัดกระทรวงกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ท่านปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเลคทรอนิกส์ เข้าประจำโต๊ะลงนามบันทึกความร่วมมือ

พร้อมกันนั้นขออนุญาตเชิญท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นสักขีพยาน เข้าประจำจุดหลังโต๊ะลงนามและขอกราบเรียนเชิญ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้กรุณากล่าวแสดงความยินดีในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือใน ครั้งนี้ และร่วมเป็นสักขีพยานในลำดับต่อไป
 

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์  นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICTเปิด เผยว่า โครงการ Smart Farmer/Smart Officer หรือเกษตรกรอัจฉริยะ เป็นโครงการที่ภาครัฐที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเกษตรกรมารวมตัวกันเพื่อที่จะ บูรณาการข้อมูลนำไปสู่การดูแลเกษตรกรอย่างเป็นระบบ และทำให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐทุกด้านในอนาคตแกนหลักของระบบข้อมูลทั้งหมดที่เชื่อมต่อกับเกษตรกร ภาครัฐจะใช้บัตรประชาชนอเนกประสงค์ หรือ Smart Card เป็นเครื่องมือ มีการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ร่วมกับข้อมูลทะเบียนราษฎร และจัดเก็บข้อมูลสำคัญของเกษตรกรลงในบัตรประจำตัวประชาชน
 

ในด้านการดำเนินงานจะเริ่มด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การจัดเก็บทะเบียนเกษตรกร ร่วมกับการจัดทำสำมะโนการเกษตร สำหรับการบริการจัดการด้านเกษตรกร ขณะเดียวกันทางกระทรวงมหาดไทย โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จะให้การสนับสนุนข้อมูลทะเบียนราษฎรและบูรณาการร่วมกับข้อมูลทะเบียนเกษตรกรเพื่อใช้สำหรับเป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ และให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง สมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน และให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการขอใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนประวัติ ราษฎรจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางด้วยระบบคอมพิวเตอร์โดยวิธีแฟ้มข้อมูล (BATCH PROCESSING) และวิธีบริการ COUNTER SERVICE ระหว่าง สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กับ กรมส่งเสริมการเกษตร ที่ได้ลงนามร่วมกันแล้ว เมื่อวันที่ 16มีนาคม 2552

 

การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันจะใช้งานระบบเครือข่ายข้อมูลภาครัฐ (Government Information Network : GIN) และให้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อบริการภาครัฐ รวมทั้งระบบการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ (G – Cloud Computing) ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. พร้อมกับต้องทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร ข้อมูลที่สำคัญ และสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ไปสู่เกษตรกรผ่านทางเทคโนโลยีการสื่อสาร อันได้แก่โทรทัศน์อินเทอร์เน็ต (IPTV) หรือระบบเครือข่ายข้อมูลภาครัฐ (Government Information Network : GIN) ไปยังศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนทั่วประเทศ
 

สรุปเบื้องต้น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) จะเข้ามาให้การสนับสนุนในส่วนของ 1.บริการระบบเครือข่ายสารสนเทศภาครัฐ (Government Information Network : GIN) ตามนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e – Government) 2. ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อบริการภาครัฐ การบริการระบบการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ (G – Cloud Computing) 3. สนับสนุน ฝึกอบรม และให้ความรู้เพื่อการทำสำมะโนการเกษตร 4. สนับสนุนข้อมูลที่ได้จากการจัดทำสำมะโนการเกษตร ในการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ (G – Cloud Computing) 5. สนับสนุนการจัดรายการ จัดชุดองค์ความรู้ หรือหลักสูตร จากแหล่งข้อมูลต่างๆ รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านทางโทรทัศน์อินเตอร์เน็ต (IPTV) และ/หรือ ผ่านเครือข่ายข้อมูลภาครัฐ (Government Information Network : GIN) ไปยังศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนทั่วประเทศ 6. สนับสนุนให้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนเป็นแหล่งให้บริการความรู้ สารสนเทศ และเป็นสถานที่ฝึกอบรมให้แก่เกษตรกร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

 

ดังนั้น เมื่อมีการนำข้อมูลทะเบียนเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขึ้นทะเบียน ไว้ มาบูรณาการกับข้อมูลทะเบียนราษฎร โดยทำการสำรวจออกมาเป็นสำมะโนการเกษตร เพื่อการจัดเก็บข้อมูลเกษตรกรลงในบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) และนำข้อมูล แผนที่ รวมทั้งรายละเอียดของพื้นที่ อนุรักษ์ พื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตรวจสอบเข้าด้วยกัน และยังมีแผนที่ในการจัดพื้นที่ด้านการผลิตการเกษตร สำหรับวางแผนและจัดการการผลิตด้านการเกษตร  ทั้งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรฯ ได้วางแผนปรับปรุงข้อมูลในบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ซึ่งมีข้อมูลของเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน ก็จะทำให้การช่วยเหลือและดูแลเกษตรกรทั่วประเทศทำได้ง่ายขึ้น

 

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ.เปิด เผยว่า ในแง่การปฏิบัติงานนั้น เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรมีจำนวนมาก โดยเฉพาะในกระทรวงเกษตรฯ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร,องค์การคลังสินค้า (อคส.),องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.),ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ซึ่งทุกหน่วยงานต่างมีระบบของตนเองอยู่แล้ว ดังนั้นในโครงการนี้จะจัดทำ “Government API”  เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาระบบเชื่อมโยง/การเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยว ข้อง อาทิ เกษตรกร ข้อมูลใบประทวน และข้อมูลการขึ้นเงิน ฯลฯ ขึ้นมา ซึ่งจะทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกียวข้องกับข้อมูลเกษตรกร สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ (ลดระยะเวลาในการบันทึกข้อมูล) และเพิ่มความถูกต้อง/น่าเชื่อถือของข้อมูล อาทิ  กรมส่งเสริมการเกษตรเชื่อมโยงข้อมูลจากบัตรประชาชนแบบ Smart Card / ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์  ทาง อคส. / อ.ต.ก. เชื่อมโยงข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจจากกรมส่งเสริมการ เกษตร / ทาง ธกส. เชื่อมโยงข้อมูลใบประทวนจาก อคส. / อ.ต.ก.
 

โดยข้อตกลงล่าสุดนั้น ทางกรมส่งเสริมการเกษตรจะกำหนดรูปแบบ รายการและรูปแบบข้อมูลที่ต้องการใช้บริการ G-Cloud แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยทางสรอ.จะทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา และจัดเตรียมระบบ G-Cloud ไว้รองรับ และคาดว่าสรอ.จะร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการนำเข้าข้อมูลจากไปยัง G-Cloud ได้ภายในเดือนมีนาคม ขณะเดียวกันทางกรมการปกครองจะกำหนดแนวทาง และดำเนินการทำ Data Cleansing ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ขณะที่การบันทึกข้อมูลเกษตรกรเข้าบัตร Smart Card ทั้งหมดจะทำงานคู่ขนานกันไป โดยในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทางกรมส่งเสริมการเกษตรจะกำหนดข้อมูลที่ต้องการบันทึกเข้าบัตร Smart Card
 

ทั้งนี้สรอ.จะทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาในเรื่องการนำเอาเทคโนโลยีที่เกี่ยว ข้องกับการบูรณาการข้อมูลเกษตรกร รวมถึงการจัดเตรียมเครือข่ายความเร็วสูงและระบบ G-Cloud เพื่อสนับสนุนในการให้บริการและการนำเข้าข้อมูลของกรมส่งเสริมเกษตรกร และมีมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เชื่อมโยง/แลกเปลี่ยนกัน ระหว่างหน่วยงาน (Security and Privacy)
 

หลังจากนั้นแล้วจะมาถึงจุดที่สำคัญ ก็คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรสามารถนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ใน การให้บริการกับเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งในเดือนมิถุนายนนี้ สรอ.จะมีโครงการพัฒนาระบบนำร่องการให้ข้อมูลเกษตรกรผ่านอุปกรณ์ Smart Box ที่ใช้ข้อมูลเกษตรกรจากระบบ G-Cloud  และภายในปีนี้หน่วยงานต่างๆ ที่เกียวข้องก็สามารถนำระบบฐานข้อมูลที่บูรณาการบน G-Cloud เพื่อไปพัฒนาเป็น application / e-Services อื่นๆ ได้อย่างไม่จำกัด

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่:   

ส่วนส่งเสริมการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

นายธรรณพ ศิริธรรมวิไล

โทรศัพท์ ๐-๒๖๑๒-๖๐๐๐ ต่อ ๖๒๐๓

โทรศัพท์มือถือ ๐๘-๑๘๔๕-๑๔๕๙

อีเมล์ ptdp@ega.or.th