DGA จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565


10 January 2563
1447

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยได้เดินหน้าตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้วันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ซึ่งได้กำหนดให้หน่วยงานของภาครัฐจัดให้มีการบริหารงานและจัดทำบริการสาธารณะในรูปแบบและช่องทางดิจิทัล โดยให้มีการบริหารจัดการและบูรณาการข้อมูลภาครัฐ และการทำงานให้มีความสอดคล้องและเชื่อมโยงเข้าด้วยกันอย่างมั่นคงปลอดภัยและมีธรรมาภิบาล ซึ่งอย่างน้อยต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาใช้ในการบริหารและการให้บริการภาครัฐ การพัฒนามาตรฐานหลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับระบบดิจิทัล เพื่อประโยชน์ในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน รวมทั้งมีระบบความมั่นคงปลอดภัยในการใช้งานผ่านระบบดิจิทัล ตลอดจนมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่หน่วยงานของภาครัฐจัดทำและครอบครองในรูปแบบและช่องทางดิจิทัลเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและโดยสะดวก รวมทั้งกำหนดหลักการเกี่ยวกับการรักษาวินัยการเงินการคลังไว้เป็นกรอบในการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัลไว้ด้วย ซึ่งหนึ่งในสาระสำคัญของพระราชบัญญัติดังกล่าว คือ การกำหนดให้มีการจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเพื่อกำหนดกรอบและทิศทางการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และเมื่อมีการประกาศใช้แผนดังกล่าวแล้ว ให้หน่วยงานของภาครัฐมีหน้าที่ต้องจัดทำหรือปรับปรุงแผนปฏิบัติการหรือแผนงานของหน่วยงานของภาครัฐให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล พร้อมส่งแผนปฏิบัติงานหรือแผนงานดังกล่าวให้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA ทราบด้วย

นายสุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ประธานในการประชุมฯ กล่าวว่า เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 และเพื่อการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศ  DGA ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนดังกล่าว จึงได้ดำเนินการจัดทำ “(ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565” ขึ้น ภายใต้หลักคิดของรัฐบาลดิจิทัลที่ให้ความสำคัญกับการจัดทำและปรับเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นรูปแบบดิจิทัล สามารถเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานรวมถึงการเปิดเผยข้อมูล ทั้งยังมีการกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแพลตฟอร์มดิจิทัลภาครัฐที่สำคัญ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อประชาชนและธุรกิจ

โดยอาศัยหลักการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นสำคัญ โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินงานต่าง ๆ ดังนี้

  • รวบรวมและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลทั้งแหล่งข้อมูลภายในประเทศและต่างประเทศ
     
  • จัดประชุมเพื่อร่วมกำหนดวิสัยทัศน์และกรอบการดำเนินงานจากหน่วยงานภาครัฐ
    ที่เกี่ยวข้อง

     
  • จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากตัวแทนภาคประชาชนและภาคธุรกิจ
     
  • เปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์
     
  • นำเสนอ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565
    ต่อคณะกรรมการจัดทำร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จำนวน 4 ครั้ง เพื่อนำข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐมาเป็นข้อมูลสำคัญในการปรับปรุง (ร่าง) แผนดังกล่าว

     
  • นำเสนอ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 ต่อคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ซึ่งมีท่านรองนายกสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นประธาน ในคราวการประชุมครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการ และมอบหมายให้ DGA ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการอีกครั้ง
  • DGA จึงได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะครอบคลุมทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และ ภาคประชาชนขึ้น

    โดย นายชรินทร์ ธีรฐิตยางกูร ผู้อำนวยการฝ่าบขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล DGA ได้บรรยายเรื่อง พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 และแผนงานบูรณาการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับทราบ และมี นายวิบูลย์ ภัทรพิบูล รองผู้อำนวยการ DGA เข้าร่วมตอบข้อซักถามในการประชุมครั้งนี้ด้วย

    ทั้งนี้ บรรยากาศในการประชุมได้รับความสนใจและมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อ (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563 – 2565 เป็นอย่างมาก ซึ่งทาง DGA จะได้นำไปปรับใช้ในร่างแผนฯ ฉบับนี้ เพื่อให้สอดคล้องต่อบริบทของประเทศ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

    เอกสารแนบ

    1

    Public Hearing09012020_DG Plan (draft) final

    336 ครั้ง