7 ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ จากพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562


2 April 2562
24475

1. ได้บริการดิจิทัลภาครัฐที่ดีขึ้น

ประชาชนจะได้บริการภาครัฐดิจิทัลที่ดีขึ้น เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่จัดทำกระบวนการหรือการดำเนินงานทางดิจิทัลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและการให้บริการประชาชน [อ้างอิง มาตรา 12 (2)]

2. ได้รับบริการแบบ One Stop Service

ประชาชนจะได้รับความสะดวกสบาย จากการรับบริการภาครัฐมากขึ้น เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ สพร. หรือ DGA สนับสนุนการเชื่อมโยงบริการดิจิทัลของหน่วยงานของรัฐให้เกิดบริการสาธารณะแบบเบ็ดเสร็จตามที่คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน [อ้างอิง มาตรา 10 (5) และมาตรา 15]

3. ไม่ต้องใช้สำเนาเอกสารราชการในการติดต่อภาครัฐ

ประชาชนไม่ต้องมีภาระจัดเตรียมสำเนาเอกสารราชการ เพื่อประกอบการติดต่อราชการกับภาครัฐอีกแล้ว เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องจัดส่งข้อมูลหรือสำเนาเอกสารระหว่างกันเอง เพื่อมิให้ต้องเรียกขอสำเนาเอกสารจากประชาชน [อ้างอิง มาตรา 11 และมาตรา 15]

4. ได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลเปิดภาครัฐแบบดิจิทัล

ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ หรือข้อมูลเปิดภาครัฐ ผ่านรูปแบบหรือช่องทางดิจิทัล เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ต้องนำข้อมูลไปเปิดเผยไว้ที่ “ศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ” เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงได้โดยง่าย และสามารถนำข้อมูลไปพัฒนาหรือต่อยอดนวัตกรรมต่าง ๆ ได้อีกด้วย [อ้างอิง มาตรา 17 และมาตรา 18]

5. ได้ใช้ Digital ID สำหรับการใช้บริการดิจิทัลภาครัฐ

ประชาชนได้รับความสะดวกและปลอดภัย ในการใช้ระบบบริการดิจิทัลภาครัฐ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดให้มีระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกในการบริการประชาชน ซึ่งมีมาตรฐานและแนวทางที่สอดคล้องกันตามที่คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกำหนด [อ้างอิง มาตรา 12 (4)]

6. ได้ใช้ e-Payment ในการจ่ายค่าบริการ

ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ในการชำระค่าบริการต่างๆ ให้แก่ภาครัฐ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีระบบการชำระเงินทางดิจิทัล อีกช่องทางหนึ่งกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานของรัฐสามารถเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม ค่าบริการ ค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดจากประชาชนจากการให้บริการภาครัฐ และหน่วยงานของรัฐอาจตกลงจัดเก็บเงินดังกล่าวแทนกันได้ด้วย [อ้างอิง มาตรา 12 (3)]

7. ค่าธรรมเนียมในการใช้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัลจะลดลงในอนาคต

ในอนาคตประชาชนที่เลือกใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลภาครัฐจะจ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการต่างๆ ให้แก่หน่วยงานของรัฐในอัตราที่ต่ำลง เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอต่อผู้รักษาการตามกฎหมายฉบับต่าง ๆ ในการพิจารณายกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียม ค่าบริการ ค่าปรับ หรือค่าใช้จ่ายอื่นใด เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้ [อ้างอิง มาตรา 7 (5)]

อยากรู้เกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ. รัฐบาลดิจิทัล อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.dga.or.th/th/contentlist/2106/